สิงห์บุรี-ปศุสัตว์ฯ ย้ำ..!!การ์ดอย่าตกการป้องกันโรคระบาดในสุกร จากกรณีข่าวปลอม “หมู เป็นเอดส์”

สิงห์บุรี-ปศุสัตว์ฯ ย้ำ..!!การ์ดอย่าตกการป้องกันโรคระบาดในสุกร จากกรณีข่าวปลอม “หมู เป็นเอดส์”

ภาพ-ข่าว:จิระแมน ขำฉา

        จากกรณีที่มีการส่งต่อข่าวปลอม “หมูติดเชื้อตัวใหม่ เป็นเอดส์ ห้ามกิน 6 เดือน” ซึ่งเป็นข่าวเท็จที่ถูกสร้างขึ้น และนำเข้าระบบคอมพิวเตอร์ ตั้งแต่ปี 2551 และปัจจุบันก็ยังนำมาแชร์กันอีกครั้งในช่วงนี้ ทางสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสิงห์บุรี มีความห่วงใยพี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรในพื้นที่ เนื่องจากข่าวดังกล่าวทำให้เกิดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกร และซ้ำเติมพี่น้องเกษตรกรในวิกฤตโรคระบาดโควิด -19
         ประกอบกับองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (World Organization for Animalหรือ OIE) ได้รายงานการพบโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรทั่วโลก 35 ประเทศ และในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น จีน เวียดนาม ลาว กัมพูชา มาเลเซีย และเมียนมา มีแนวโน้มขยายเป็นวงกว้างต่อเนื่อง ซึ่งมีโอกาสสูงที่การแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวจะเข้ามายังประเทศไทยผ่านประเทศเพื่อนบ้านตามแนวชายแดน และอาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดในวงกว้าง ซึ่งโรคดังกล่าวเป็นโรคไวรัสที่ระบาดในสุกรเท่านั้น ไม่ติดต่อไปสู่สัตว์ชนิดอื่นๆ เป็นโรคที่ไม่ติดต่อสู่คน แต่ในขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มีรายงานการเกิดโรคดังกล่าว
          นายสามารถ ประสิทธิ์ผล ปศุสัตว์จังหวัดสิงห์บุรี ได้กล่าวว่า สำหรับจังหวัดสิงห์บุรี มีเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรทั้งหมด 6 อำเภอ จำนวน 319 ราย มีสุกรรวมทั้งหมด 40,003 ตัว ทางปศุสัตว์จังหวัดสิงห์บุรีร่วมกับปศุสัตว์ทุกอำเภอและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้สร้างความเข้าใจแก่เกษตรกรในเรื่องการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรค ซึ่งจากกระแสข่าวอาจทำให้เกษตรกร และผู้บริโภคมีความตื่นตระหนก และกังวลใจ จึงต้องเร่งสื่อสารทำความเข้าใจให้ถูกต้อง และประชาสัมพันธ์เกษตรกรในพื้นที่เฝ้าระวังและป้องกันโรคระบาดในสุกร ดังนี้ 1. เข้มงวดระบบการป้องกันโรคของฟาร์มสุกร เช่น เลือกซื้อสัตว์จากแหล่งที่เชื่อถือได้ การกักสัตว์ก่อนนำเข้ารวมฝูง ห้ามคนนอกเข้าฟาร์ม พ่นยาฆ่าเชื้อทุกครั้งก่อนเข้าออกจากฟาร์ม และโรงเรือน 2. หากพบสุกรป่วยตายผิดปกติให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ทันที เพื่อเร่งดำเนินการช่วยเหลือ
        นายสามารถ กล่าวต่อว่า ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ดำเนินการตามมาตรการการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัดและขอความร่วมมือเกษตรกรดูแลสุกรของตนเองอย่างใกล้ชิด ปฏิบัติตามมาตรการการเฝ้าระวังและป้องกันโรคระบาดในสุกรเพื่อลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้น หากพบสัตว์ป่วยหรือตายโดยไม่ทราบสาเหตุ อย่านำไปจำหน่าย ให้รีบแจ้งปศุสัตว์อำเภอ อาสาปศุสัตว์ เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ ในพื้นที่ทันที เพื่อให้การช่วยเหลือและตรวจสอบโดยเร็ว

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!