ทำเพื่อตัวเองก็อยู่ได้แค่สิ้นลม แต่ทำเพื่อสังคมแม้สิ้นลมก็ยังอยู่ธรรมะดีๆจากหลวงพี่น้ำฝน

ทำเพื่อตัวเองก็อยู่ได้แค่สิ้นลม แต่ทำเพื่อสังคมแม้สิ้นลมก็ยังอยู่ธรรมะดีๆจากหลวงพี่น้ำฝน

ภาพ/ข่าว:คัคเนศวร์ พรอัศวโยธิน

ทำเพื่อตัวเองก็อยู่ได้แค่สิ้นลม แต่ทำเพื่อสังคมแม้สิ้นลมก็ยังอยู่ธรรมะดีๆจากหลวงพี่น้ำฝน

              เจริญพรญาติโยมผู้อ่านทุกท่าน จากโครงการบริจาคเตียงไฟฟ้าสำหรับผู้ป่วยแก่ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลนครปฐมซึ่งทางกองทุนหลวงพ่อพูล ของทางวัดไผ่ล้อม จังหวัดนครปฐมที่ผ่านมานั้น อาตมาขอเจริญพรเรียนญาติโยมทุกท่านว่า เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา ทางโครงการได้มอบเตียงที่ 200 ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้อย่างครบถ้วน และทางกองทุนยังสามารถระดมทุนจัดซื้อเตียงไฟฟ้าได้เพิ่มเติมอีกถึง 8 เตียง รวมจำนวนเตียงไฟฟ้าที่จัดซื้อส่งมอบให้แก่ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลนครปฐม เป็นจำนวน 208 เตียง ในวันดังกล่าวทางกองทุนหลวงพ่อพูล นำโดยอาตมา และศิษยานุศิษย์ เช่น นายสมชาติ สาลีพัฒนา เจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลานายเงี๊ยบ นางสาวภัคภิญญา แซ่อึ้ง นายธงรัฐ บูรณบุรีเดช นางนิศารัตน์ ด่านตระกูล คุณวีรชัย วีรคเชน และอีกหลายท่าน ได้เดินทางไปยังโรงพยาบาลนครปฐม เพื่อทำพิธีส่งมอบเตียงผู้ป่วย โดยมีแพทย์หญิงดารารัตน์ รัตนรักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครปฐม เป็นผู้รับมอบ ตามที่ทางโรงพยาบาลขอรับการสนับสนุนจำนวน 200 เตียง รวมมูลค่า มูลค่า 8,112,000 บาท บรรยากาศเป็นไปด้วยความน่ายินดี และเป็นบรรยากาศแห่งบุญกุศลที่ทุกคนที่ร่วมแรงร่วมใจในกองทุนหลวงพ่อพูลเป็นผู้สร้างจนสำเร็จ

            ทั้งนี้ ตลอดเวลาที่ดำเนินโครงการนี้มา อาตมาไม่ได้เรี่ยไรเงินทองจากใครเลย แต่เมื่อข่าวนี้แพร่ไปยังศิษยานุศิษย์ของอาตมา ญาติโยมแต่ละคนก็ช่วยกันตามกำลังของตนเองยังกองทุนหลวงพ่อพูล ดุจมดงานที่ช่วยกันทำการใหญ่ เตียง 200 เตียงก็คือการใหญ่ที่เหล่ามดงานโดยมีอาตมาเป็นมดตัวหนึ่งร่วมด้วยช่วยกันทำงานจนสำเร็จ และก็เป็นโชคดีที่มีผู้ใหญ่ใจดีหลายท่าน ทั้งที่ออกนามแก่อาตมา และไม่ออกนาม ซึ่งได้ทราบข่าวคราวการบุญผ่าน “จุดไฟในใจคน” ทางมติชนสุดสัปดาห์ ได้ติดต่อเข้ามาทางกองทุนหลวงพ่อพูลเพื่อสมทบทุนในกองบุญนี้ด้วย บุญจัดซื้อเตียงผู้ป่วยครั้งนี้จึงนับเป็นความสำเร็จของ “ทุกคน” ที่ร่วมด้วยช่วยกันสร้างบุญ และสร้างสาธารณประโยชน์ ช่วยเหลือผู้ป่วย เป็นกุศลอันดี แม้ในเวลานี้ที่บ้านเมืองและโลกตกอยู่ในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 แต่ทุกคนก็ทำสำเร็จ นี่คือบุญใหญ่ที่ไม่มีโทษ นี่คือบุญใหญ่ที่ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย นี่คือบุญที่จะได้ผลแห่งบุญไปอีกยาวนาน

จึงขอประกาศการบุญที่ผ่านมานี้ให้ทุกท่านได้อนุโมทนาสาธุโดยทั่วกัน  เมื่อวันนี้อาตมากล่าวถึงงานบุญ อาตมาจะพูดถึง “บุญ” อย่างจริงจัง การทำบุญที่อาตมากล่าวมาตั้งแต่ต้นเรื่องนั้น เป็นบุญชนิดหนึ่งในวิธีทำบุญ 10 อย่าง หรือ บุญกิริยาวัตถุ 10

บุญกิริยาวัตถุ มี 10 ประการ ได้แก่

ทานมัย คือ การให้ปันสิ่งของ การสละทรัพย์แก่ผู้อื่น ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว

สีลมัย คือ การรักษาศีล คนเราพึงมีศีล คือ ความประพฤติเป็นปกติในความเป็นมนุษย์ที่ดีงาม

ภาวนามัย คือ การเจริญภาวนา ฝึกอบรมจิตใจ จะสมถกรรมฐานก็ดี วิปัสสนากรรมฐานก็ดี

อปจายนมัย คือ มีความอ่อนน้อม อ่อนน้อมต่อผู้ควรอ่อนน้อม คือ ผู้สูงด้วยวัยวุฒิ ด้วยคุณวุฒิ และสำคัญที่สุดคือ สูงด้วยคุณธรรม แม้มีชาติกำเนิดต่ำกว่า มีฐานะต่ำกว่า หรือแม้มีวัยวุฒิอ่อนกว่าเรา แต่หากสูงด้วยคุณธรรมแล้ว ย่อมเป็นที่ควรอ่อนน้อม หากมีความอ่อนน้อมดังนี้แล้ว ก็เป็นบุญ

เวยยาวัจจมัย คือ ขวนขวายในกิจที่ชอบ ช่วยเหลือกิจของผู้อื่น หรือที่สมัยนี้เรียกว่า มีจิตอาสา

ปัตติทานมัย คือ การแบ่งส่วนแห่งบุญกุศลแก่ผู้อื่น เวลาเรากรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลแก่ใครก็ตาม เราได้บุญเพราะเหตุนี้

ปัตตานุโมทนามัย คือ การยินดีในความดีของผู้อื่น หรือที่เวลาเราเห็นใครทำความดี แล้วเราก็ยกมือขึ้นโมทนาสาธุ ความยินดีในข้อนี้คือสิ่งที่ทำให้จิตใจของเราเจริญขึ้น

ธัมมัสสวนมัย คือ การฟังธรรม หรือการศึกษาหาความรู้ เพราะการฟังธรรม ศึกษาธรรมนั้น ทำให้เรามีความกระจ่างแจ้งกระจ่างใจมากขึ้น สิ่งที่เข้าใจแล้วก็ยิ่งเข้าใจชัด ที่ไม่เข้าใจก็ย่อมเข้าใจมากขึ้น

ธัมมเทสนามัย คือ การสั่งสอนธรรมให้รู้ ไม่ได้หมายความว่าจะต้องไปขึ้นธรรมาสน์เทศน์ แต่แค่การแนะนำสิ่งที่ดีงาม เป็นทางที่ชอบ ประกอบไปด้วยธรรม นี่ก็เป็นธัมมเทสนามัย เป็นบุญได้แล้ว

ทิฏฐุชุกัมม์ คือ การทำความเห็นให้ตรง มีความตรงไปตรงมา ไม่เอนเอียง รู้และเข้าใจถ่องแท้แน่ชัดว่าสิ่งใดถูก สิ่งใดผิด สิ่งใดเป็นประโยชน์ สิ่งใดไม่เป็นประโยชน์ นี่ก็เป็นบุญ ซึ่งดูเหมือนง่าย แต่แท้จริงแล้วเป็นขั้นที่ยากที่สุด เพราะเราต้องขจัดอคติ ความคิดเข้าข้างตนเอง ต้องมีหิริโอตตัปปะอย่างมั่นคง จึงจะมีความเห็นที่ตรงโดยแน่แท้

           ในชีวิตของเรา เราควรทำบุญให้ได้ครบทั้งสิบประการนี้ จึงจะเรียกได้ว่า ปฏิบัติครบทั้งทาน ศีล ภาวนา อันเป็นแก่นสำคัญประการหนึ่งของพุทธศาสนา บุญที่อาตมากล่าวถึงในตอนต้นนี้เรียกว่า ทานมัย หมายถึง การให้ปันสิ่งของ การสละทรัพย์แก่ผู้อื่น หรือพระศาสนา แก่สังคมส่วนรวม อย่างนี้เป็นบุญอย่างหนึ่ง และเวลาที่เราพูดว่า “ทำบุญ” เราก็มักจะนึกถึงบุญข้อนี้เป็นหลัก เพราะเราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เวลาเราไปวัดเราก็เห็นตู้บริจาคมากมาย มองไปทางไหนก็เจอตู้อย่างนั้นอย่างนี้ แต่ทานมัยนั้น คือขั้นตอนแรกของการขัดเกลาจิตใจเลยทีเดียว การที่เราพร้อมจะสละทรัพย์ของตนเพื่อผู้อื่น นึกถึงผู้อื่น เพื่อสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่า นั่นคือการชนะใจของตนอย่างหนึ่ง เพราะธรรมดาของมนุษย์ย่อมไม่อยากเสียทรัพย์ นอกจากการหาปัจจัยสี่และบำเรอความสุขของตน แต่การสละทรัพย์เพื่อผู้อื่น ถือว่าเราเริ่มเปิดใจ มองให้ไกลกว่าตนเองแล้ว และที่สำคัญ คือ การทำเพื่อผู้อื่น ผลแห่งบุญนั้นย่อมยาวนานตราบเท่าที่ประโยชน์นั้นยังคงอยู่ และบางทีก็นานเสียยิ่งกว่าชีวิตของเราอีกเสียด้วยซ้ำ ฉะนั้น จงมองให้ไกลออกไปจากตนเอง และทำประโยชน์แก่ผู้อื่นเสมอ สิ่งเหล่านี้เป็นบุญแก่ตนเอง และทำให้โลกน่าอยู่ขึ้น ขอเจริญพร

สามารถติดตามข่าวสารอื่นๆได้ก่อนใครที่ https://www.siameagle.com
หรือ https://www.facebook.com/siameaglenews/

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!