พช. เฟ้นหา Best of the best ผู้นำการเปลี่ยนแปลง ระดับดีเลิศ ตั้งรางวัล 1 ล้านบาท

พช. เฟ้นหา Best of the best ผู้นำการเปลี่ยนแปลง ระดับดีเลิศ ตั้งรางวัล 1 ล้านบาท

ภาพ/ข่าว:คัคเนศวร์ พีอัศวโยธิน

         พช. เฟ้นหา Best of the best ผู้นำการเปลี่ยนแปลง ระดับดีเลิศ ตั้งรางวัล 1 ล้านบาท มุ่งขยายผลทุกตำบลทั่วไทย พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

           นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ( พช.) เป็นประธานในการแถลงข่าวการประกวดผู้นำการเปลี่ยนแปลงระดับประเทศ ประเภทดีเลิศ โดยอธิบดี พช.บอกว่า พช.สนองแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร คือ “การระเบิดจากข้างใน” เกิดการตื่นตัว ดวงตาเห็นธรรม ด้วยการสร้างพลังชุมชน ใช้พลังชุมชน ในการพัฒนาชุมชน และยังสนองต่อแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี น้อมนำโครงการบ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเองมาขยายผลให้ชาวบ้านปลูกผักสร้างความมั่นคงด้านอาหารช่วงโควิด-19 ได้อย่างเป็นรูปธรรม นายสุทธิพงษ์บอกว่า กรมการพัฒนาชุมชนให้ความสำคัญของการพัฒนาศักยภาพผู้นำชุมชนเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนในระดับต่างๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของผู้นำชุมชน เสริมสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร สร้างภูมิคุ้มกันทางสังคมและสร้างสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืน การประกวดในรอบแรก ได้คัดเลือกจากทั่วประเทศเหลือ 18 ตำบล ใน 18 เขตตรวจราชการ และได้มอบรางวัลรองชนะเลิศ ตำบลละ 100,000 บาท เพื่อนำไปพัฒนาตำบลหมู่บ้านของตัวเอง และจะค้นหา Best of the Best โดยมีเงินรางวัล 1 ล้านบาท เพื่อนำไปขยายผล พัฒนาหมู่บ้าน ให้เข้มแข็งต่อไป

           รูปแบบการประกวดในยุค new normal ทั้ง 18 ตำบล จะนำเสนอผ่านระบบการประชุมออนไลน์ด้วยโปรแกรม Zoom Cloud Meeting มีการนำเสนอด้วยคลิปวิดีโอ สรุปผลงานและปักหมุดผลงานในพื้นที่ แสดงให้เห็นถึงตำแหน่งที่ตั้งของพื้นที่/กิจกรรมที่ดำเนินการ/ที่อยู่ของผู้นำการเปลี่ยนแปลง/ศูนย์เรียนรู้ต่างๆ รวมถึงสรุปข้อมูลสารสนเทศ GIS ผ่านโปรแกรม Google Map โดยมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก ที่มีประสบการณ์ความรู้ความสามารถเข้าร่วมตัดสิน จำนวน 11 ท่าน ด้วยเกณฑ์ 4 ด้าน คือ 1) บทบาทแกนนำของ ผู้นำการเปลี่ยนแปลง 2) การบริหารจัดการชุมชนของผู้นำการเปลี่ยนแปลง ที่ทำให้ชุมชนเข้มแข็งตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 3) การขยายผลขับเคลื่อนการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารให้ต่อเนื่องยั่งยืน และ4) คำถามพิเศษ (Extra Point ) จากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คุณแม่หนูจีน ศรีนัมมัง ผู้นำการเปลี่ยนแปลง อำเภอบัวลาย จังหวัดนครราชสีมา แบบอย่างของการแบ่งปันอาหารในยามวิกฤตโควิด : ประตูปันสุข ได้ร่วมงานแถลงข่าวและบอกว่าจากการที่ได้เข้าอบรม ผู้นำการเปลี่ยนแปลงกับกรมการพัฒนาชุมชน เกิดแรงจูงใจในการที่อยากจะทำ ในการอบรมครั้งนั้น ก็ได้นำความรู้เกี่ยวกับการปลูกพืชผักสวนครัวและนำรายได้มาสู่ชุมชน ลงพื้นที่แนะนำให้ชาวบ้านปลูกผักกินเอง ทุกคนมีความกระตือรือร้นที่จะร่วมกันปลูกพืชผักสวนครัว เกิดการแบ่งปัน แลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็อยากจะแบ่งปันผู้ที่ได้รับผลกระทบ จึงได้คิดไอเดียทำ “ประตูปันสุข” โดยทุกวันจะนำสิ่งของไม่ว่าจะเป็นพืชผักสวนครัวและข้าวสารอาหารแห้งมาใส่ถุงพลาสติกห้อยไว้ที่ประตูเป็นจำนวนมาก ทำให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มานำไปรับประทาน ซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจที่ได้แบ่งปันในช่วงภาวะวิกฤติแบบนี้ ทำให้เกิดความรู้สึกแสนสบายกายและสุขใจทุกครั้ง

          แม่หนูจีนบอกว่า ต้องขอขอบคุณท่านอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ที่เห็นความสำคัญ ในเรื่องของการสร้างความมั่นคงทางอาหาร สามารถทำให้คนในชุมชนอยู่แบบพอเพียง กินแจก แลกใช้ รู้อยู่ รู้กิน รู้ใช้ สุดท้ายรู้เก็บ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนย้ำว่า เป้าหมายการประกวด เพื่อค้นหาผู้นำ และให้ผู้นำซึ่งเป็นพี่น้องประชาชนที่อยู่ในตำบลนั้น ได้เป็นผู้ที่จะชักชวนทุกครัวเรือนที่ตระหนักรู้ ประพฤติปฏิบัติในการที่จะดูแลครอบครัวของตัวเองให้เป็นครอบครัวที่มีความเข้มแข็ง มีความมั่นคงทางด้านอาหาร สร้างภูมิคุ้มกันทางสังคมและสร้างสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืนไปทุกจังหวัดในประเทศไทยด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และทั้งหมดจะเป็นศูนย์เรียนรู้ชุมชน ศูนย์แบ่งปันที่จะทำให้ชุมชนเข้มแข็ง พึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน

สามารถติดตามข่าวสารอื่นๆได้ก่อนใครที่ https://www.siameagle.com
หรือ https://www.facebook.com/siameaglenews/

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!