ชลบุรี-เร่งแก้ไขน้ำเอ่อท่วมถนนจากโครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำ
ภาพ/ข่าว:นิราช / นันทพล ทิพย์ศรี
เมืองพัทยา ยอมรับผลพวงน้ำเอ่อท่วมถนน เกิดจากโครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำ
จากกรณีที่มีประชาชนร้องเรียนว่าภายในซอยเทพสิทธิ์ 9 ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี เกิดน้ำเอ่อขึ้นท่วมขังสูงประมาณ 10-30 ซม. สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ที่พักอาศัยอยู่ในละแวกใกล้เคียง และผู้ที่สัญจรผ่านบนถนนเส้นดังกล่าวเป็นอย่างมาก ทำให้เกิดความสงสัยว่ามวลน้ำที่เอ่อขึ้นท่วมนั้น เกิดจากสาเหตุใด ทั้งที่ไม่มีปริมาณน้ำฝนตกลงมา โดยชาวบ้านระบุว่ามีน้ำถูกระบายปล่อยออกมาจากท่อของสนามโกคาร์ท
ล่าสุดเมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 6 กรกฎาคม 2564 นายพัฒนา บุญสวัสดิ์ รองนายกเมืองพัทยา นายอนุวัฒน์ ทองคำ ผอ.สำนักกองช่างสุขาภิบาล พร้อมด้วยคณะ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบภายในซอยเทพประสิทธิ์ 9 พบว่าปริมาณน้ำลดลงสู่สภาวะปกติแล้ว เหลือเพียงน้ำที่ยังขังอยู่ตามแอ่งข้างทางเล็กน้อย มีตะไคร่น้ำสีเขียวเกาะติดบนพื้นถนนและในจุดที่มีการก่อสร้างระบบระบายน้ำ ซึ่งคนงานกำลังใช้เครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่เร่งสูบระบายน้ำพร้อมชี้แจ้งว่ากรณีดังกล่าวนั้นเกิดจากโครงการก่อสร้างที่มากขึ้น ทำให้น้ำไปพักอยู่ในแก้มลิงไม่ได้ ประกอบกับท่อระบายน้ำในอดีตค่อนข้างเล็กทำให้น้ำระบายไม่ทัน ซึ่งทางเมืองพัทยาได้หาแนวทางแก้ไขโดยมีโครงการก่อสร้างระบบบ่อสูบเร่งระบายน้ำขนาดใหญ่เชื่อมโยงระหว่างซอยเทพประสิทธิ์ 9 กับซอยเทพประสิทธิ์ 7 คาดว่าจะเสร็จภายใน 15 วัน เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมขังในอนาคต
ซึ่งมวลน้ำที่ต้องถูกสูบปล่อยออกมาจากสนามโกคาร์ทนั้นเป็นเพราะได้รับความเดือดร้อนจากมวลน้ำที่จะต้องระบายไปผ่านจุดที่ทางเมืองพัทยาได้มีการก่อสร้าง แต่มวลน้ำดันกลับแล้วเอ่อขึ้นท่วมภายในสนามโกคาร์ททำให้ทางผู้บริหารต้องสูบน้ำออก ซึ่งไม่ใช่ความผิดของทางสนามโกคาร์ทแต่เป็นผู้ได้รับผลกระทบ โดยทางเมืองพัทยาหลังทราบเรืองก็ได้ลงพื้นที่แก้ไข โดยนำเครื่องสูบน้ำมาช่วยระบายน้ำ รวมถึงแก้ปัญหาในจุดที่น้ำไหลผ่านช่วงการก่อสร้างให้สัมพันธ์กัน ให้ไปได้เร็วที่สุด สำหรับหากมีปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้นนั้น ในจุดดังกล่าวยอมรับว่าน้ำจะต้องมีการรอระบาย แต่ทางเมืองพัทยาจะนำเครื่องสูบน้ำมาเตรียมพร้อมไว้เพื่อเร่งระบายพร้อมหารือแนวทางในการแก้ปัญหาโดยเช็คจากเรดาร์ตรวจสอบปริมาณน้ำฝนเพื่อจะวางแผนป้องกันอยู่ตลอดเวลา
ด้านนายอวยพร เลี้ยงหิรัญ อายุ 73 ปี ผู้บริหารสนามโกคาร์ท เปิดเผยว่าเกิดจากน้ำในท่อเอ่อล้นเข้าไปท่วมในพื้นที่ เพื่อป้องกันไม่ให้ทรัพย์สินเกิดความเสียหาย ซึ่งเมื่อการระบายน้ำช้าจึงเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ เมื่อน้ำล้นเข้าไปจึงต้องสูบปล่อยออกมา หากปริมาณน้ำเข้าสู่สภาวะปกติก็ไม่มีความจำเป็นที่จะปล่อยออกมา ซึ่งวันนี้มีความพึงพอใจมากที่ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาแก้ไขเพื่อคลายความเดือดร้อนลงไปได้บ้าง