“เฉลิมชัย” สั่งฟรุ้ทบอร์ด (Fruit Board) ลุย “ผลไม้ใต้-ลำไยเหนือ” 1.5 ล้านตัน
ภาพ/ข่าว:นิราช / นันทพล ทิพย์ศรี
“เฉลิมชัย”สั่งฟรุ้ทบอร์ด (Fruit Board) ลุย “ผลไม้ใต้-ลำไยเหนือ” 1.5 ล้านตัน ฝ่าวิกฤตโควิด-19
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และประธานคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (ฟรุ้ทบอร์ด-Fruit Board) เปิดเผยวันนี้ (12 ก.ค.64) ว่า ได้สั่งการให้กระทรวงเกษตรฯ. กระทรวงพาณิชย์และคณะกรรมการ คพจ. (คณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาอันเนื่องมาจากผลผลิตการเกษตรระดับจังหวัด) ซึ่งเป็นกลไกแกนหลักของฟรุ้ทบอร์ดเร่งทำงานเชิงรุกดูแลผลไม้ภาคใต้และลำไยภาคเหนือภายใต้แผนปฏิบัติการปี 2564 ของฟรุ้ทบอร์ด โดยเฉพาะในช่วงพีคของฤดูกาลผลิตปีนี้โดยให้เน้นการขับเคลื่อนแผนการตลาดออนไลน์และออฟไลน์ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ทั้งนี้ให้ใช้แนวทางการบริหารจัดการผลไม้ภาคตะวันออกที่เพิ่งผ่านมาเป็นตัวอย่างซึ่งประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจทั้งเรื่องราคาและตลาดจากการทำงานเชิงรุกและเพิ่มกลยุทธ์การตลาดใหม่ๆเช่นระบบสั่งซื้อล่วงหน้า (Pre-order) บนแพลตฟอร์มออนไลน์ในการส่งออกทุเรียนไปตลาดจีนซึ่งเป็นตลาดที่มีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด-19 เร็วที่สุดแห่งหนึ่งของโลก นอกจากนี้ยังได้ย้ำเรื่องคุณภาพและมาตรฐานของผลไม้เป็นเรื่องสำคัญที่สุด
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมายให้ ตนเป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ ครั้งที่ 4/2564 ผ่านระบบ ZOOM ล่าสุดร่วมกับนายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตัวแทนเกษตรกร ภาครัฐและภาคเอกชน โดยมีการพิจารณาประเด็นสำคัญ อาทิ การเพิ่มครัวเรือนเป้าหมายโครงการเยียวยาเกษตรกรชาวสวนลำไย ปี 2563 ผลการบริหารจัดการผลไม้ประจำฤดูกาลผลิตที่ 1/2564 (มีนาคม – มิถุนายน) ในพื้นที่ภาคเหนือ (ลิ้นจี่) และภาคตะวันออก (ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง) การประเมินสถานการณ์การผลิตไม้ผล ปี 2564 (ภาคเหนือ และภาคใต้) และได้เห็นชอบแผนบริหารจัดการผลไม้ภาคเหนือ (ลำไย) ปี 2564 แผนบริหารจัดการผลไม้ภาคใต้ (ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง) ปี 2564 และการช่วยเหลือเกษตรกรแก้ไขปัญหามะม่วงของจังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดชัยภูมิ ทั้งนี้ ยังได้พิจารณาแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ ดูแลตามห่วงโซ่อุปทาน (Supply-Value chain) ตามพื้นที่การผลิต (Areas -Products base) และคณะทำงานด้านระบบข้อมูลโลจิสติกส์ และคณะศึกษาเสถียรภาพกลุ่มสินค้าเช่นลำไย อีกด้วย
นายอลงกรณ์ กล่าวว่า สำหรับโครงการเยียวยาชาวสวนลำไย ฤดูกาลผลิตปี 2563 ได้ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โอนเงินให้เกษตรกร ที่ได้รับอนุมัติเพิ่มเติม จำนวน 154 ราย ซึ่งขณะนี้มีเกษตรกรจำนวน 201,986 ราย ได้รับเงินเยียวยากว่า 2,858,355,450 บาท แล้ว ส่วนผลการบริหารจัดการผลไม้ ฤดูกาลผลิตที่ 1/2564 (มีนาคม – มิถุนายน) ภาคเหนือ ผลผลิตลิ้นจี่ มีปริมาณผลผลิตทั้งหมด 27,952 ตัน ในภาพรวมส่วนใหญ่มีการบริโภคในประเทศ 23,620 ตัน หรือร้อยละ 84.51 แปรรูป 2,131 ตัน หรือร้อยละ 7.62 และ ส่งออก 2,201 ตันหรือร้อยละ 7.87 ในส่วนของภาคตะวันออก ที่มีปริมาณรวมทั้งสิ้น 900,126 ตัน ประกอบด้วย ทุเรียน 575,542 ตัน มังคุด 106,796 ตัน เงาะ 197,708 ตัน และลองกอง 20,080 ตัน มีการเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วรวมทั้งหมด 830,870 ตัน คิดเป็นร้อยละ 92.31 (ข้อมูล ณ วันที่ 2 กรกฎาคม 2564) ซึ่งขณะนี้ยังไม่สิ้นสุดฤดูกาล โดยมีการเน้นการป้องปรามทุเรียนอ่อน โดยจังหวัดได้กำหนดมาตรการระยะสั้นเพื่อควบคุมและป้องกันทุเรียนอ่อนไม่ให้ออกนอกแหล่งผลิต ด้วยการจัดตั้งชุดเฉพาะกิจเพื่อช่วยสกัดกั้นทุเรียนอ่อน โดยใช้บทลงโทษทางกฎหมาย นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาคุณภาพผลผลิตตามความเหมาะสมของพื้นที่ การเชื่อมโยงตลาด ภายใต้โครงการส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตรตามอัตลักษณ์และภูมิปัญญาท้องถิ่น การถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีโดย AIC และหน่วยงานส่งเสริมต่างๆ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตผลไม้และผลไม้อัตลักษณ์ตลอดจนการจัดทำแปลงเรียนรู้การส่งเสริมการผลิตตามระบบมาตรฐาน GAP และ GI การพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งขององค์กรตามระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ สหกรณ์ และศูนย์คัดแยกผลไม้ชุมชน การตรวจสอบย้อนกลับโดยใช้ QR Code เป็นต้น
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ร่วมหารือแผนบริหารจัดการผลไม้ภาคเหนือ (ลำไย) ปี 2564-2565 มีการประเมินผลผลิตที่ 683,435 ตัน ใช้บริโภคสดภายในประเทศ 101,543 ตัน แปรรูป 438,420 ตัน ส่งออก 143,472 ตัน โดยขณะนี้ราคาลำไยสดช่อเกรด AA เท่ากับ 32 บาท/กิโลกรัม เกรด AA+A เท่ากับ 31 บาท/กิโลกรัม โดยกระจายผลผลิตผ่านล้งภายในประเทศ วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์การเกษตร ห้าง Modern Trade ระบบของไปรษณีย์ไทย การตลาดออนไลน์และตลาดค้าผลไม้ภายในจังหวัด การจัดจำหน่ายตรงผู้บริโภค การบริโภคในครัวเรือน เป็นต้น ซึ่งที่ประชุมได้มีมติให้เร่งรัดดำเนินการด้านแผนบริหารจัดการผลไม้ภาคใต้ (ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง) ปี 2564 รวมปริมาณทั้งสิ้น 824,728 ตัน โดยเป็นทุเรียน 554,459 ตัน มังคุด 165,838 ตัน เงาะ 62,510 ตัน ลองกอง 41,921 ตัน ซึ่งจะมีแนวทางการกำกับ ติดตาม เฝ้าระวังช่วงปริมาณผลผลิตออกมาก (Peak) ปี 2564 และแจ้งคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาอันเนื่องมาจากผลผลิตการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.)บริหารจัดการเชิงรุกผลไม้ในพื้นที่พร้อมกำกับดูแลในพื้นที่เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและเฝ้าระวังเป็นพิเศษโดยเฉพาะปัญหาการขาดแคลนแรงงานและราคาผลผลิตตกต่ำในช่วงผลผลิตออกปริมาณมาก (Peak) ตามนโยบายของรัฐมนตรีเกษตรฯ “จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ทำให้เกษตรกรชาวสวนได้รับผลกระทบ ที่ประชุมจึงมีมติเห็นชอบให้ดำเนินการจ่ายเงินชดเชยกับชาวสวนมะม่วงที่ได้รับผลกระทบ เช่นเดียวกับชาวนา และชาวสวนลำไย โดยเสนอขอชดเชยไร่ละ 2,000 บาท คนละไม่เกิน 25 ไร่ ครัวเรือนละไม่เกิน 50,000 บาท และการพิจารณาช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาราคาผลผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้ตกต่ำในพื้นที่ จังหวัดชัยภูมิ ที่ได้รับความเดือดร้อน จำนวน 8,920 ครัวเรือน พื้นที่ 15,057 ไร่ ผลผลิต 11,292 ตัน โดยประสงค์ขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อชดเชยราคาผลผลิตมะม่วง จำนวน 535,930,250 บาท ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนตาม 5 ยุทธศาสตร์เฉลิมชัย โมเดลเกษตรผลิต-พาณิชย์ตลาดภายใต้ยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต โดยบูรณาการทุกภาคส่วน และใช้เทคโนโลยีในการผลิต เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของเกษตรกรต่อไปอย่างยั่งยืน” นายอลงกรณ์ กล่าว.