กาญจนบุรี-สาธารณสุขเตือนสัญญาณอันตรายที่ควรพบแพทย์โดยด่วน

กาญจนบุรี-สาธารณสุขเตือนสัญญาณอันตรายที่ควรพบแพทย์โดยด่วน

ภาพ/ข่าว:มานพ บุตรเนียม

สาธารณสุขกาญจนบุรี เตือนสัญญาณอันตรายที่ควรพบแพทย์โดยด่วน พร้อมแนะแอปพลิเคชันประเมินความเสี่ยง“โรคหลอดเลือดหัวใจ-หลอดเลือดสมอง”ด้วยตัวเอง

               สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี เตือนสัญญาณอันตรายที่ควรพบแพทย์โดยด่วน พร้อมแนะนำแอปพลิเคชันประเมินความเสี่ยง “โรคหลอดเลือดหัวใจ – หลอดเลือดสมอง” ด้วยตัวเอง พร้อมคำแนะนำเข้าใจง่าย ป้องกันอัมพฤกษ์ อัมพาต เตือนใบหน้าบิดเบี้ยว คิดสับสน พูดลำบาก พูดไม่ชัด พูดไม่ได้ แขนขาอ่อนแรง ให้นำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้เร็วที่สุด ลดความพิการ รักษาชีวิตผู้ป่วยได้ทัน
               นพ.พนัส โสภณพงษ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดให้โรคหลอดเลือดสมองเป็นนโยบายระดับชาติ โดยให้โรงพยาบาลชุมชนขนาด 120 เตียงขึ้นไป จัดหน่วยบริการผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke Unit) ระบบ Stroke Fast Track หรืออาจจัดมุมดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองโดยเฉพาะ ตลอดจนสร้างความร่วมมือในการป้องกันและลดความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองทุกภาคส่วน สถานการณ์โรคไม่ติดต่อประเทศไทย ทำให้คนไทยเสียชีวิตก่อนวัยอันควร จํานวน 4 โรคสําคัญ คือโรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจขาดเลือด โรคเบาหวาน และโรคทางเดินหายใจอุดกั้นเรื้องรังมีแนวโน้มสูงเพิ่มขึ้น จาก 33.4 ต่อแสนประชากร เพิ่มเป็น 40.9 ต่อแสนประชากร รองลงมาคือโรคหัวใจขาดเลือด จาก 22.4 ต่อแสนประชากร เป็น 27.8 ต่อแสนประชากร โรคเบาหวาน จาก 13.2 ต่อแสนประชากร เพิ่มเป็น 17.8 ต่อแสนประชากร และโรคทางเดินหายใจอุดกั้นเรื้อรังจาก 3.8 ต่อแสนประชากร เป็น 4.5 ต่อแสนประชากร สำหรับจังหวัดกาญจนบุรี พบว่าอัตราตายต่อประชากรแสนคนด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่สำคัญตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๕6-๒๕60 ได้แก่ โรคหลอดเลือดสมองใหญ่หรืออัมพฤกษ์ อัมพาต 36.7 โรคหัวใจขาดเลือด 33.69 โรคความดันโลหิตสูง 11.77 และโรคเบาหวาน 7.26 ซึ่งพบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกโรค กลไกของโรคจะทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคดังกล่าว ได้แก่ 1. ภาวะความดันเลือดสูง 2. ผู้ที่เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หัวใจเต้นผิดจังหวะ และผนังหัวใจห้องล่างซ้ายหนา 3. การสูบบุหรี่ 4. การดื่มสุรา 5. เบาหวาน 6. ไขมันในเลือดสูง 7. ภาวะหลอดเลือดตีบ 8. เคยเป็นโรคหลอดเลือดสมองมาก่อน สำหรับ “โรคหัวใจ” เป็นภัยเงียบที่คุกคามสุขภาพของคนในยุคปัจจุบัน โดยกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของโลก สถิติล่าสุดของกระทรวงสาธารณสุข ปี 2561 พบว่ามีผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด 432,943 คน อัตราเสียชีวิต 20,855 คน และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ปัจจัยเสี่ยงต่างๆ มาจากการใช้ชีวิตประจำวัน อาหารการกิน และการขาดการออกกำลังกาย สัญญาณอันตรายของโรคหัวใจและหลอดเลือดที่ควรพบแพทย์โดยด่วน คือ อาการเจ็บหน้าอกด้านซ้ายอาจร้าวไปที่ไหล่ เจ็บแน่นๆในอก รู้สึกอึดอัด มีเหงื่อออก หน้ามืด เป็นลม มีอาการเจ็บอกเมื่อออกกำลังกาย เป็นบ่อยหลายๆ ครั้ง จึงขอแนะนำประชาชนประเมินโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดใน 2 ช่องทาง คือ ประเมินโดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ในสถานบริการสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ หรือประเมินโดยตนเองผ่าน Application : Thai CV Risk Calculator หากพบระดับความเสี่ยงตั้งแต่ 30% ขึ้นไป แนะนําให้ไปพบแพทย์ เพื่อรับคำแนะนำในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างเข้มข้น รีบด่วนและจัดการปัจจัยเสี่ยงได้อย่างทันท่วงที
               นพ.พนัส กล่าวต่อไปว่า แอปพลิเคชันประเมินความเสี่ยง “โรคหลอดเลือดหัวใจ – หลอดเลือดสมอง” ด้วยตัวเอง โปรแกรม Thai CV Risk Calculator เพื่อให้ประชาชนสามารถประเมินความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมองได้ด้วยตัวเอง โดยในแอปพลิเคชันจะมีคำถามเพื่อประเมินภาวะเสี่ยงต่อการเกิดโรคและให้คำแนะนำปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและดูแลสุขภาพอย่างถูกต้องสามารถดาวน์โหลดได้ทั้งระบบปฏิบัติการไอโอเอส (IOS) และแอนดรอย์ (Android) ดังนี้ 1.ใส่รายละเอียดส่วนตัวของคุณ หากมีข้อมูลโดยละเอียดของปริมาณคอเลสเตอรอล ความดัน ฯลฯ จากการตรวจสุขภาพประจำปี ให้ใส่ลงไปด้วย แล้วกดแสดงผล

                นพ.พนัส กล่าวต่อไปอีกว่า การป้องการควบคุมโรคหัวใจและหลอดเลือด-โรคหลอดเลือดสมอง เน้นการสร้างความตระหนักต่อโรค, ส่งเสริมสุขภาพและลดความเสี่ยง เพิ่มการเข้าถึงบริการสาธารณสุข และการปฏิบัติเพื่อควบคุมป้องกันโรค เฝ้าระวัง ติดตาม ประเมินผล รวมทั้งมาตรการสื่อสารความเสี่ยงเพื่อให้ประชาชนในชุมชนมีความรู้เรื่องการป้องกันได้จากการควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น ออกกำลังกายเป็นประจำ รักษาโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวานอย่างต่อเนื่อง ไม่สูบและหลีกเลี่ยงควันบุหรี่ ลดอาหารจำพวกไขมันและคอเลสเตอรอลสูง แต่ก็ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ป้องกันไม่ได้อยู่ เช่น อายุที่มากขึ้นจะทำให้หลอดเลือดเสื่อมสภาพ เพศชายที่โอกาสเป็นมากกว่าเพศหญิง และภาวะการแข็งตัวของเลือดเร็วกว่าปกติ ที่สำคัญคือประชาชนควรรู้สัญญาณเตือนของโรคหัวใจและหลอดเลือด-โรคหลอดเลือดสมอง หากพบว่ามีอาการใจสั่น เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก มีอาการคลื่นไส้เวียนศีรษะ ชาหรืออ่อนแรงที่ใบหน้าและร่างกาย ใบหน้าบิดเบี้ยว คิดสับสน พูดลำบาก พูดไม่ชัด พูดไม่ได้ ตาข้างใดข้างหนึ่งมัว มองเห็นภาพซ้อน หรือมองไม่เห็น ยกแขนไม่ขึ้น 1 ข้าง มีอาการมึนงง เดินเซ เสียศูนย์ เมื่อพบผู้ป่วยมีอาการข้างต้นรีบนำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้และเร็วที่สุด เพราะการรักษาที่ทันท่วงทีจะช่วยลดความเสี่ยงของความพิการที่อาจจะเกิดขึ้นและรักษาชีวิตของผู้ป่วยไว้ได้ สามารถขอรับความช่วยเหลือได้ที่สายด่วน 1669 ให้บริการฟรีตลอด 24 ชั่วโมง

                 นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวในช่วงท้ายว่า การลดปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยเริ่มต้นจากความตระหนักและสร้างการรับรู้ถึงการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องในการลดปัจจัยเสี่ยงในชีวิตประจำวัน เพราะหากป่วยเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดแล้วผู้ป่วยจะได้รับการรักษาด้วยการใช้ยา การรักษาด้วยบอลลูนขยายหลอดเลือด หรือการผ่าตัดต่อเส้นเลือด ซึ่งเป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะเส้นเลือดมีโอกาสกลับมาตีบได้อีก แต่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยเฉพาะการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และเหมาะสม ร่วมกับการออกกำลังกายจะช่วยให้สามารถลดปัจจัยเสี่ยงและป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ ทำให้มีอายุยืนยาวและมีคุณภาพชีวิตที่ดี ควรตรวจสุขภาพประจำปีทุกปี วัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ เจาะเลือดตรวจระดับน้ำตาลในเลือด ออกกำลังกายให้ได้อย่างน้อย 40 นาที เป็นเวลา 3-4 วันต่อสัปดาห์ พยายามอย่าให้น้ำหนักเกิน หากิจกรรมเพื่อผ่อนคลายความเครียดและพักผ่อนให้เพียงพอ เลิกสูบบุหรี่ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ให้รับประทานอาหารที่มีประโยชน์มากขึ้น ลดอาหารที่ไขมัน เกลือ น้ำตาลสูง และดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ

สามารถติดตามข่าวสารอื่นๆได้ก่อนใครที่ https://www.siameagle.com
หรือ https://www.facebook.com/siameaglenews/

CATEGORIES
TAGS
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!