เชียงใหม่-ม.แม่โจ้ MOU ร่วมเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกกัญชงอินทรีย์ภาคเหนือ
ภาพ-ข่าว:ฝ่ายสื่อสารองค์กร ม.แม่โจ้
วันที่ 9 สิงหาคม 2564 มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้มีพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกับเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกกัญชงอินทรีย์ภาคเหนือ (Northern organic Hemp: NOH) ซึ่งประกอบไปด้วยวิสาหกิจชุมชนจากจังหวัด เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา และลำพูน จำนวน 16 วิสาหกิจชุมชน ในโครงการปลูกกัญชงสายพันธุ์ที่ให้สารสำคัญสูง เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตในภาคเหนือของประเทศไทย ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อสุขภาพและจัดทำเป็นฐานข้อมูลสะดวกใช้ในระบบ Cloud
โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพล ทองมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และ นายสุชาติ อินต๊ะเขียว ประธานเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ปลูกกัญชงอินทรีย์ภาคเหนือ เป็นผู้แทนลงนามทั้งสองฝ่าย โอกาสนี้ นายนเรศ ธำรงค์ทิพยคุณ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี(ปฏิบัติงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์) และ ดร.ธนสาร ธรรมสอน ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวแสดงความยินดีและให้กำลังใจ (ผ่านระบบออนไลน์) แก่เกษตรกรในเครือข่ายที่ได้ร่วมโครงการกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ทั้งนี้ มีคณะผู้บริหารของทางสองหน่วยงานร่วมเป็นสักขีพยายาน ณ สำนักงานมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยแม่โจ้
โครงการปลูกกัญชงสายพันธุ์ที่ให้สารสำคัญสูง เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตในภาคเหนือของประเทศไทย ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อสุขภาพและจัดทำเป็นฐานข้อมูลสะดวกใช้ในระบบ Cloud เป็นโครงการที่ทั้งสองฝ่ายมีเจตนารมณ์ร่วมกันในการขอรับอนุญาตผลิต (ปลูก)กัญชง ผลิตผลิตภัณฑ์จากพืชกัญชงและนำผลผลิตและผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ โดยร่วมกันสนับสนุนองค์ความรู้ และนวัตกรรมในเกษตรกรเพาะปลูกกัญชงระบบเกษตรอินทรีย์ ร่วมกันทดลองสายพันธุ์กัญชงที่มีเสถียรภาพ ผลผลิตต่อไร่สูง ให้สารสำคัญ CBD สูง มี THC ต่ำตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด และเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของภาคเหนือ
และยังดำเนินการรวบรวมและพัฒนาข้อมูลการปลูกกัญชงอินทรีย์ทั้งกระบวนการ แล้วจัดเก็บฐานข้อมูลในระบบคลาวด์ เพื่อให้สะดวกต่อการใช้งานและเป็นต้นแบบให้แก่เกษตรกร และประชาชนที่สนใจต่อไปในอนาคต ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันแต่งตั้งคณะทำงานและนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญมาร่วมพัฒนาและมอบหมายให้ผู้แทนของแต่ละฝ่ายได้ตกลงกันในรายละเอียดภายใต้วัตถุประสงค์และขอบเขตความร่วมมือ หน้าที่และความรับผิดชอบตามที่กำหนด โดยบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ มีกำหนดระยะเวลา 5 ปี