อยุธยา – เปิดโรงพยาบาลสนาม มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย แห่งที่ 10
ภาพ/ข่าว : นราเอก ตันศิริ : นพดล บำเพ็ญสัตย์
ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานเปิดโรงพยาบาลสนาม มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย แห่งที่ 10 ของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อดูแลประชาชนและพระภิกษุสงฆ์ที่ติดเชื้อโควิด-19 ขนาด 537 เตียง
เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 10 สิงหาคม 2564 ที่ อาคารสมุดวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อำเภอวังน้อย พระธรรมวัชรบัณฑิต อธิการบดีมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ในพิธีเปิดโรงพยาบาลสนาม มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย แห่งที่ 10 ของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานฝ่ายฆราวาส โดยมีพระเทพปวรเมธี รองอธิบการบดีมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ประธานศูนย์ป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มจร. นางสาวนุชนาถ ประทีปธีรานันต์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายแพทย์พีระ อารีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายวิเชียร จูห้อง นายอำเภอวังน้อย นายแพทย์ชัชรินทร์ ปิ่นสุวรรณ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชธานี นายนครินทร์ อาจหาญ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด พร้อมด้วยผู้บริหารและเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลราชธานีเข้าร่วมการเปิดโรงพยาบาลสนามในครั้งนี้
ทั้งนี้มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ร่วมกับจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและโรงพยาบาลราชธานีจัดตั้งโรงพยาบาลสนามวังน้อยนี้ขึ้น ที่อาคารหอสมุดวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ ในพื้นที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ซึ่งสามารถรองรับผู้ป่วยทั้งสิ้นจำนวน 537 เตียง ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการไม่รุนแรง(สีเขียว) ประกอบไปด้วยชั้นที่ G เป็นชั้นสำหรับลานจอดรถ จัดส่งสิ่งของสำหรับผู้ป่วย ชั้น 1 ศูนย์อำนวยการ (Nurse station) และทางเข้าผู้ป่วย ชั้น 2 รองรับผู้ป่วยหญิงจำนวน 305 เตียง ชั้น 3 รองรับผู้ป่วยชาย จำนวน 178 เตียง ภิกษุ จำนวน 54 เตียง และชั้น 4 ใช้บริการเฉพาะห้องน้ำสำหรับพระภิกษุ
ด้านนายภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า สถานการณ์เตียงรองรับผู้ป่วยของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อยู่ในภาวะเตียงตึงตัว ทำให้ต้องเร่งจัดหาสถานที่เพื่อรองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 โดยจะใช้ระบบ Home Isolation และ Community Isolation เพื่อให้ผู้ป่วยดูแลตนเองที่บ้านและในชุมชน ผู้ที่สามารถเข้ารับบริการ ได้แก่ ผู้ติดเชื้อโควิดที่มีอาการไม่รุนแรง(สีเขียว) ที่อยู่ในระหว่างการรอเตียง และกลุ่มผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค (PUI) ซึ่งการติดต่อเพื่อขอเข้ารับบริการจะต้องผ่านการประเมินจากแพทย์และการยินยอมของผู้ป่วย จึงสามารถเข้าสู่ระบบ Home Isolation และ Community Isolation ได้ โดยขณะนี้ทุกอำเภอได้จัดตั้ง Community Isolation แล้ว และบางอำเภอได้เปิดให้บริการนำผู้ติดเชื้อเข้าสู่ระบบการรักษาเรียบร้อยแล้ว
สามารถติดตามข่าวสารอื่นๆได้ก่อนใครที่ https://www.siameagle.com
หรือ https://www.facebook.com/siameaglenews/