เชียงใหม่-เปิดโครงการ“โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวังกรมราชทัณฑ์”
ภาพ/ข่าว:ทีมข่าวเฉพาะกิจจังหวัดเชียงใหม่
ขอบคุณข้อมูล:ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่
ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ ร่วมพิธีเปิดโครงการพระราชทานในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว “โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวังกรมราชทัณฑ์” รุ่นที่ 3/1 ตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2564
วันนี้ (16 ส.ค. 64) นางอาจารี ศรีสุนาครัว ผู้อำนวยการทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ ร่วมเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการพระราชทานในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว “โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวังกรมราชทัณฑ์” ผ่านการถ่ายทอดสดระบบ VDO Conference ร่วมกับส่วนกลางกรมราชทัณฑ์ โดยมีเจ้าหน้าที่ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ เข้าร่วมพิธีโดยพร้อมเพรียงกัน โดยทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ ได้จัดพิธีเปิดการฝึกอบรมโครงการพระราชทาน “โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง กรมราชทัณฑ์” รุ่นที่ 3/1 ตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2564
โครงการดังกล่าวเป็นโครงการพระราชทานในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นโครงการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยให้แก่ผู้ต้องขังที่จะได้รับพระราชทานอภัยโทษ อันเกิดจากพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวที่พระองค์ทรงเล็งเห็นว่า ผู้ต้องขังที่จะพ้นโทษจากเรือนจำและทัณฑสถานออกไปนั้น อาจจะได้รับผลกระทบจากกระแสโลกาภิวัตน์และการเปลี่ยนแปลงทางด้านต่างๆ รวมถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งอาจส่งผลกระทบในการใช้ชีวิตของผู้พ้นโทษ จึงได้พระราชทานโครงการโคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวัง กรมราชทัณฑ์ เพื่อใช้เป็นหลักสูตรเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย ในการฝึกอบรมผู้ต้องขัง อันจะเป็นพื้นฐานในการเริ่มต้นชีวิตใหม่ และการใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวภายหลังพ้นโทษ ด้วยการสร้างต้นแบบการเกษตรทฤษฎีใหม่ในพื้นที่ขนาดเล็ก ในทุกเงื่อนไขของพื้นที่เพื่อให้ผู้พ้นโทษสามารถพึ่งพาตนเอง รวมถึงช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนได้ โดยมุ่งไปที่การปรับเปลี่ยนองค์ความคิด หรือ Mindset ที่จะช่วยพัฒนาทักษะด้านความคิด ทัศนคติ และร่างกายของผู้ต้องขังให้มีวินัย ความรัก ความสามัคคี และการช่วยเหลือเกื้อกูลกันได้เป็นอย่างดี
การฝึกอบรมของโครงการ ได้ดำเนินการอบรมทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติเป็นระยะเวลา 14 วัน ระหว่างวันที่ 16 – 29 สิงหาคม 2564 ด้วยการน้อมนำ สืบสาน และต่อยอด หลักเกษตรทฤษฎีใหม่ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่เป็นการประยุกต์ทฤษฎีใหม่แบบชาวบ้าน ปั้นโคก ขุดหนอง ทำนา จากการถ่ายทอดของวิทยากร “ครูพาทำ” และผู้เชี่ยวชาญในด้านเกษตรทฤษฎีใหม่ ซึ่งจะมุ่งเน้นให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้ลงมือปฏิบัติ และแก้ไขปัญหาจากสถานการณ์จริง เพื่อให้เห็นผลเป็นรูปธรรม นอกจากจะดำเนินการฝึกอบรมเป็นระยะเวลา 14 วันแล้ว ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ ยังมีการติดตามผลการดำเนินโครงการ ผ่านศูนย์ประสานงานและส่งเสริมการมีงานทำ (ศูนย์ Care) เพื่อเป็นศูนย์กลางในการติดตามและให้ความช่วยเหลือผู้พ้นโทษ โดยเฉพาะกลุ่มผู้พ้นโทษที่ผ่าน การฝึกอบรมตามโครงการพระราชทานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “โคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวัง กรมราชทัณฑ์” ด้วยการจัดทำระบบบันทึกข้อมูล เพื่อประมวลผลการติดตามผู้พ้นโทษที่ต้องการรับความช่วยเหลือ และผู้พ้นโทษที่นำความรู้เกี่ยวกับเกษตรทฤษฎีใหม่ไปใช้ประโยชน์ภายหลังพ้นโทษ เพื่อต่อยอดในการนำบุคคลดังกล่าวมาเป็นบุคคลต้นแบบ และร่วมเป็นวิทยากรจิตอาสาถ่ายทอดประสบการณ์และแนวคิดการใช้ชีวิตพอเพียงภายหลังพ้นโทษ ร่วมกับ จิตอาสาพระราชทาน 904
ทั้งนี้ โครงการพระราชทานในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว “โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวังกรมราชทัณฑ์” รุ่นที่ 3/1 นี้ มีผู้เข้ารับการฝึกอบรมเป็นผู้ต้องขังที่เป็นคนไทย 82 คน และชาวต่างชาติ 8 คน รวมทั้งสิ้น 90 คน ระยะเวลาการอบรม 14 วัน ระหว่างวันที่ 16 – 29 สิงหาคม 2564 แบ่งการฝึกเป็น 3 ขั้นตอน ได้แก่
ขั้นที่ 1 การอบรมพึ่งตนเองด้วยทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง
ขั้นที่ 2 การแปลงทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติ ประกอบด้วย การออกแบบแนวความคิดการบริหารจัดการพื้นที่ขนาดเล็ก การประยุกต์ทฤษฎีใหม่ แบบชาวบ้าน ปั้นโคก ขุดหนอง ทำนา ตามภูมิสังคมลงบนกระดาษ การสร้างพื้นที่จำลอง (Table Top Exercise) และวางแผนการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง เพื่อพออยู่ พอกิน พอใช้ และพอร่มเย็น การปฏิบัติในพื้นที่จริง มีขนาด 155 ตารางเมตร ตามทฤษฎีใหม่แบบชาวบ้าน ปั้นโคก ขุดหนอง ทำนา ตามภูมิสังคม และการเรียนหลักกสิกรรมธรรมชาติ
ขั้นที่ 3 การสรุปสิ่งที่ได้เรียนรู้และการประเมินผล
ซึ่งจากผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ผู้พ้นโทษสามารถพึ่งพาตนเองตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ ทั้งสามารถช่วยเหลือประชาชนทำประโยชน์เพื่อส่วนรวมได้ หลังจากนี้แล้ว ผู้ต้องขังที่จะรับการพ้นโทษ ในโอกาสต่อไปจะต้องไปดำเนินการในพื้นที่ตามภูมิลำเนาของตนเอง อันเป็นการสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการสืบสาน รักษา ต่อยอด โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่างๆ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรโดยการถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชนเพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และช่วยกันพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า พร้อมที่จะเป็นพลเมืองที่ดีของสังคมและประเทศชาติต่อไป
สามารถติดตามข่าวสารอื่นๆได้ก่อนใครที่ https://www.siameagle.com
หรือ https://www.facebook.com/siameaglenews/