ปราจีนบุรี-ครอบครัวชายวัย 55 ปี หลังฉีดวัคซีนเข็มแรกตาย ยังติดใจ ไม่มี จนท.แนะนำ
ภาพ/ข่าว:มานิตย์ สนับบุญ
ครอบครัวชายวัย 55ปีหลังฉีดวัคซีนเข็มแรกตาย ยังติดใจ ไม่มี จนท.แนะนำ
เมื่อเวลา 09.50 น. วันนี้ 22 ส.ค.64 ผู้สื่อข่าว จ.ปราจีนบุรี รายงานความคืบหน้า จากกรณี นายคำนวน อุเทน อายุ55ปีอยู่บ้านเลขที่ 87 ม.7 ต.นนทรี อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ไปฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เข็มแรก ยี่ห้อซีโนแวค โดยผู้ตายทำงานในบริษัทแห่งหนึ่ง หลังจากฉีดวัคซีนเมื่อวันที่ 20ส.ค.ที่ผ่านมา หลังจากกลับจากทำงาน บ่นบอกว่ารู้สึกเจ็บและปวดที่ต้นแขน จากนั้นเริ่มมีอาการแน่นหน้าอก เนื่องจากมีโรคประจำตัวเป็นความดันสูง วันรุ่งขึ้น วานนี้ (21ส.ค.) อาการยังไม่ดีขึ้น จนกระทั่งช่วงบ่ายของวันที่21ส.ค. ได้เสียชีวิตลงที่บ้าน สร้างความโศกเศร้าเสียใจให้กับครอบครัวและญาติๆอย่างมาก ไม่คิดว่าผู้เสียชีวิตจะมาด่วนเสียชีวิตเร็วแบบนี้ และได้นำศพตั้งบำเพ็ญกุศล ที่ วัดโคกสว่าง ต.นนทรี อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ตามรายละเอียดที่ได้นำเสนอก่อนหน้า นี้นั้น
ความคืบหน้าล่าสุดหลังจากหนุ่มพนักงานโรงงานวัย 55 ปี ฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19เข็มแรก (ซิโนแวค) เมื่อวันที่20 ส.ค.ที่ผ่านมา หลังจากฉีดวัคซีนแล้วผู้ตายมีอาการปวดแขนและมีอาการปวดศีรษะภรรยาและลูกสาวบอกให้พักผ่อนให้ลางาน กระทั่งรุ่งเช้าภรรยาเรียกสามีในห้อง วินาทีนั้นภรรยาร้องไห้โฮออกมาเมื่อเรียกสามีไม่มีการตอบรับ สามีนอนอยู่ภายในห้องญาติมาดูนำตัวส่งโรงพยาบาลกบินทร์บุรีขณะนั้นผู้ตายอยู่ในอาการตัวเย็นไม่รับรู้อะไรแล้ว เมื่อนำตัวส่งโรงพยาบาลกบินทร์บุรีแพทย์พยาบาลทำการปั๊มหัวใจอยู่นาน แต่ก็ไม่สามารถยื้อชีวิตเอาไว้ได้ และเสียชีวิตในวันที่21 ส.ค.โดยมีการตั้งศพบำเพ็ญกุศลผู้เสียชีวิตที่วัดบ้านโคกสว่าง
ช่วงเช้าวันนี้ ( 22 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวได้สัมภาษณ์ น.ส.อมรรัตน์ อุเทน (ลูกสาวผู้เสียชีวิต) กล่าวว่า “ เมื่อวันที่20ส.ค.พ่อกับแม่ เดินทางไปฉีดวัคซีนที่หอประชุมอ.กบินทร์บุรี เวลา09.00น.พร้อมกันเป็นการฉีดวัคซีนเข็มแรก(ซิโนแวค) หลังจากฉีดวัคซีนแล้วได้คุยกับพ่อ พ่อบอกว่ารู้สึกไม่สบายตัว ปวดที่แขน แล้วปวดหัว จึงบอกกับพ่อว่าให้นอนพักผ่อนและกินยา อาการอาจจะดีขึ้น แต่รุ่งเช้าเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดกับพ่อ รู้สึกเสียใจมาก
ด้านนางบุญสม อุเทน อายุ 54ปี ภรรยากล่าวด้วยน้ำตานองหน้าว่า “ไปฉีดวัคซีนพร้อมกับสามีตอนแรกยังไม่ได้คิดอะไร หลังจากฉีดแล้วสามีบ่นให้ฟังว่ารู้สึกปวดที่หัวไหล่ และรู้สึกมีอาการชาตามตัว ส่วนตนเองก็รู้สึกชาที่ไหล่และแขน ลูกสาวต้องใช้น้ำมันนวดและทาให้ทุกวัน จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับสามี รู้สึกเสียใจ ไม่คิดว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ ใครจะรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น และยังไม่มีหน่วยงานใดออกมาให้คำแนะนำและรับผิดชอบ ทางครอบครัวยังติดใจในการเสียชีวิตของสามีเกี่ยวกับการฉีดแล้ว อาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีนจนเสียชีวิต แม้แต่ตนเองที่ยัง รู้สึกมีอาการชาตามตัว ชาที่ไหล่และแขนอยู่ แต่ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรหากย้อนเวลากลับมาได้ อยากจะให้เอาวัคซีนป้องกันโควิด-19 คืนไป เอาสามีกลับคืนมา มันไม่คุ้มกันเลยกับการสูญเสียสามี ที่เป็นเสาหลักในครั้งนี้ จะบำเพ็ญกุศล สวดพระอภิธรรมศพ 3 คืน ขอดวงวิญญาณสามีขอให้ไปสู่สุคติลูกสาวจะเป็นคนดูแลเองไม่ต้องห่วง
ขณะที่ผู้สื่อข่าว ได้ประสานงานสอบถามฝ่ายประชาสัมพันธ์ สปสช. เขต 6 (จ.ระยอง) ได้รับแจ้งว่า จากรณี ดังกล่าวหลังการฉีดวัคซีนแล้ว มีอาการอันไม่พึงประสงค์เกิดมีผู้เสียชีวิต ให้ญาติ (ทายาทผู้ตาย) มาติดต่อที่งานประกันสุขภาพ สปสช.ปราจีนบุรี ตั้งอยู่สำนักงานสาธารณสุข จ.ปราจีนบุรี พร้อมเอกสารการเสียชีวิต (สำเนามรณะบัตร) บัตรประจำตัว ปปช. ทะเบียนบ้าน ยื่นกับเจ้าหน้าที่ พร้อมเขียนคำร้องกับเจ้าหน้าที่ต่อไป และจากการตรวจสอบข้อมูล สปสช.เพิ่มเติมทราบว่า ในกรณี ผู้มี อาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีน นั้น รัฐบาล มีนโยบายจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่กลุ่มดังกล่าว เพื่อสร้างความมั่นใจว่าประชาชนจะได้รับการดูแล และ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ ‘สปสช.’ ได้ออกประกาศหลักเกณฑ์วิธีการการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น เพื่อเป็นการ ‘เยียวยาผลกระทบจากวัคซีน’ เรียบร้อยแล้ว โดยสามารถรวบรวมได้ ดังนี้
ประเภทความเสียหายจากวัคซีน 1. เสียชีวิต หรือทุพพลภาพอย่างถาวร 2.เจ็บป่วยเรื้อรังตลอดชีวิต มีผลรุนแรงต่อการดำรงชีวิต 3. สูญเสียอวัยวะหรือพิการ มีผลต่อการดำเนินชีวิต 4. บาดเจ็บ หรือ เจ็บป่วยต่อเนื่องจากการได้รับวัคซีน สามารถยื่นเรื่องได้ที่ไหน หากเกิดอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีด ‘วัคซีนโควิด 19’ ตามแผนงานโครงการที่รัฐจัดให้ฟรี สามารถยื่นเรื่องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกับ ‘สปสช.’ ได้ที่ โรงพยาบาลที่ฉีด , สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) , ‘สปสช.’ สาขาเขตพื้นที่ทั้ง 13 เขต , อสม. หรือ หน่วย 50(5) เป็นผู้แนะนำและรับคำขอให้อีกทางหนึ่ง ทั้งนี้ ผู้มีสิทธิยื่นคำร้องได้แก่ ผู้รับวัคซีน ทายาท ผู้อุปการะ โรงพยาบาลที่ให้บริการ ระยะเวลาในการยื่น ยื่นคำร้องได้ภายใน 2 ปี นับแต่วันที่ทราบความเสียหาย ส่วนกรณีไหน ได้เงินเท่าไหร่ ดังนี้
กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร จะได้รับการช่วยเหลือไม่เกิน 400,000 บาท กรณีสูญเสียอวัยวะหรือพิการ ช่วยเหลือไม่เกิน 240,000 บาท กรณีเกิดภาวะเจ็บป่วยที่ต้องรับการรักษา ไม่เกิน 100,000 บาทโดยผู้พิจารณา ได้แก่ สปสช.’ มีคณะอนุกรรมการทั้ง 13 เขตทั่วประเทศดำเนินการพิจารณา พิจารณาโดยใช้ความเชี่ยวชาญของความเป็นแพทย์ ดูจากประวัติ จากข้อมูลต่างๆ ดำเนินการพิจารณาเรื่องเงินเยียวยา และจ่ายเงินภายใน 5 วันหลังมีมติ ทั้งนี้ในการพิสูจน์ ชันสูตร ไม่ต้องถึงขนาดพิสูจน์ถูกผิดจนจบกระบวนการว่าเกิดจากวัคซีนหรือไม่ ถ้าสงสัยว่าจะเกี่ยวกับวัคซีน ก็สามารถยื่นเรื่องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นเข้าได้เลย การที่แพทย์บอกว่าไม่เกี่ยวกับวัคซีน ไม่ได้เป็นการตัดสินว่า จะไม่จ่ายเงินชดเชยไม่ต้องรอผลการชันสูตรอะไรทั้งสิ้น
หากพิสูจน์ภายหลังว่าไม่ได้เกิดจากวัคซีน จะเรียกเงินคืนหรือไม่นั้น แม้ว่าต่อมาจะพิสูจน์ได้ว่าการเสียชีวิตหรือเจ็บป่วยไม่ได้มาจากวัคซีน ก็จะไม่มีการเรียกเงินคืนแต่อย่างใด กรณีไม่พอใจผลการวินิจฉัย ต้องทำอย่างไร มีสิทธิ์ยื่นอุทธรณ์ต่อเลขาธิการภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันทราบผล ยื่นที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือ ‘สปสช.’ สาขาเขตพื้นที่ได้รับความเสียหาย สอบถามเพิ่มเติม สายด่วน สปสช. โทร. 1330
สามารถติดตามข่าวสารอื่นๆได้ก่อนใครที่ https://www.siameagle.com
หรือ https://www.facebook.com/siameaglenews/