ราชบุรี-“อัครเดช” รุดตรวจสอบระบายน้ำ หลังน้ำท่วมขังไร่นาเสียหายหลายพันไร่
ภาพ/ข่าว:สุจินต์ นฤภัย(เต้)
“อัครเดช” รุดตรวจสอบระบายน้ำ หลังน้ำท่วมขังไร่นาเสียหายหลายพันไร่
วันที่ 6 ก.ย.64 นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี เขต 4 พร้อมด้วย นายกิตติ์ชญาชาต เสมคำ ผอ.สำนักงานชลประทาน จ.ราชบุรี, นายปิยะพล พึ่งพิน วิศวะกรกรมชลประทาน และหัวหน้าส่วนงานราชการที่เกี่ยวข้อง ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบการสูบน้ำจากไร่นาของเกษตรกรในพื้นที่ ต.คุงพยอม อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี หลังเมื่อ 3 วันที่ผ่านมา ในพื้นที่ อ.บ้านโป่ง ได้เกิดมีฝนตกลงมาอย่างหนัก ทำให้เกิดมวลน้ำท่วมขังในไร่นากว่าพันไร่ของเกษตรกรในหลายพื้นที่ใน อ.บ้านโป่ง ประกอบกับมวลน้ำที่ไหลมาจากพิ้นที่ ต.เบิกไพร และ ต.บ้านม่วง ทำให้การสูบน้ำออกจากไร่นาในบางพื้นที่เป็นไปด้วยความลำบาก ซึ่งทางจนท.ที่เกี่ยวข้อง ต่างระดมนำเครื่องสูบน้ำมาทำการระบายน้ำลงสู่คลอง เพื่อให้น้ำไหลออกสู่แม่น้ำแม่กลองให้โดยเร็วเพื่อลดปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่เกษตรกร
นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี เขต 4 กล่าวว่า ตนได้รับการร้องเรียนจากผู้นำชุมชนท้องถิ่นและชาวบ้านใน ต.คุ้งพยอม ว่าน้ำได้ท่วมพื้นที่เกษตรกรเป็นจำนวนหลายพันไร่ ซึ่งน้ำมาจากเมื่อ 3 วันที่ผ่านมาเกิดฝนตกหนัก ซึ่งตอนแรกมวลน้ำดังกล่าวสามารถแก้ไขปัญหาได้ แต่ยิ่งสูบน้ำกลับไม่ลด ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่ได้รับน้ำมาจาก ต.เบิกไพร และ ต.บ้านม่วง ด้วย เลยทำให้น้ำเพิ่มปริมาณมากขึ้น เพราะน้ำทั้ง 2 ตำบลไหลลงมาร่วมกันที่ ต.คุ้งพยอม หลังได้รับทราบปัญหา จึงได้แจ้งไปยัง ผอ.กรมชลประทาน จ.ราชบุรี ลงมาสำรวจพื้นที่ และได้เร่งระดมสูบน้ำให้กับพี่น้องเกษตรกร เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขัง เพื่อไม่ให้พืชผลการเกษตรได้รับความเสียหาย
ส่วนการแก้ไขปัญหาระยะยาว ซึ่งเมื่อปีที่แล้วเราเจอปัญหาน้ำท่วมใหญ่ ก็ได้แจ้งเรื่องเข้าสู่การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งทางกรมชลประทานได้ส่งเครื่องจักรกลมาทำการขุดลอกคลองระบายในพื้นที่ของชลประทานไปทั้ง 10 ตำบล ทำให้สถานการณ์น้ำท่วมขังถึงแม้ยังมีน้ำท่วมขังอยู่แต่ก็เบาบางลงไปมาก ในส่วนทางทิศตะวันตก ไม่ว่าจะเป็น ต.ลาดบัวขาว ต.คุ้งพยอม ต.บ้านม่วง จะประสานไปยัง อบจ.ราชบุรี เพื่อเข้ามาดำเนินการ ส่วนทางทิศตะวันออกทั้ง 10 ตำบล ได้มีการขุดลอกคลองไปแล้วกว่า 90% แล้ว ตอนนี้กำลังดำเนินการขุดลอกคลองในพิ้นที่ ต.นครชุมน์ ทำให้สถานการณ์น้ำท่วมขังในปีนี้เบาบางลงมาก แต่ที่เห็นพี่น้องประชาชนร้องกันมาเรื่องน้ำท่วม ส่วนใหญ่จะท่วมขังในบ้านเรือนของตนเอง ซึ่งเรื่องนี้ ทาง อบต.หรือเทศบาล จะต้องลงไปช่วยเหลือดูแลพี่น้องประชาชน
ขณะที่ นางวินัย เอี่ยมทรัพย์ อายุ 68 ปี เกษตรกรในพื้นที่ กล่าวว่า ตนทำนามาแล้วกว่า 40 ปี ด้วยสภาพพื้นที่ที่เป็นที่ลุ่ม จึงทำให้มีน้ำท่วมขังบริเวณนี้เป็นประจำทุกปี ตนจึงเลือกปลูกข้าวสุพรรณบุรี 1 และปทุมธานี 1 เนื่องจากมีความทนทาน และเป็นที่ต้องการของตลาด โดยในปีนี้ หลังจากที่ตนหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวไปเมื่อช่วงต้นเดือน ส.ค. ก็ต้องมาประสบกับปัญหาน้ำท่วม ทำให้ต้นกล้าข้าวอายุเพียง 1 เดือน ต้องจมอยู่ใต้น้ำเป็นเวลา 5 วันแล้ว เช่นเดียวกับชาวนาคนอื่นๆในพื้นที่ ทุกคนจึงได้ช่วยกันแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการนำรถไถเดินขุดทางเดินน้ำเพื่อเปิดทางระบายน้ำและติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เพื่อช่วยกันระบายน้ำออกจากไร่นาก่อนที่ต้นกล้าข้าวจะเน่าเสียหายเกินแก้ไข แม้ทุกคนจะต้องเสียเงินค่าน้ำมันเครื่องสูบน้ำประมาณวันละ 2,500 บาท หรือเป็นเงินรวมแล้วกว่า 10,000 บาท จึงอยากวอนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลือในเรื่องพวกนี้