เร่งสร้างการรับรู้ด้านอุทยานธรณีให้กับคณะทำงาน “อุทยานธรณีผาชันสามพันโบก” ชุดใหม่
ภาพ/ข่าว:ทีมข่าวเฉพาะกิจ
อุบลฯ กรมทรัพยากรธรณี ผนึกกำลังกับจังหวัดอุบลราชธานี เร่งสร้างการรับรู้ด้านอุทยานธรณีให้กับคณะทำงาน “อุทยานธรณีผาชันสามพันโบก” ชุดใหม่ พร้อมตั้งเป้าไปสู่อุทยานธรณีโลกในปี 2567
วันศุกร์ที่ 6 มีนาคม 2565 นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี มอบหมายให้ นายสมเพชร สร้อยสระคู รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานเปิดการสัมมนาสร้างการรับรู้ด้านการอนุรักษ์มรดกธรณีและอุทยานธรณีประเทศไทย พร้อมมอบนโยบายให้กับคณะทำงานอุทยานธรณีผาชันสามพันโบก ที่ โรงแรมบ้านสวนคุณตา กอล์ฟ แอนด์ รีสอร์ท อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี โดยกรมทรัพยากรธรณี โดยสำนักงานทรัพยากรธรณี เขต 2 กำหนดจัดขึ้น เพื่อเร่งสร้างการรับรู้เกี่ยวกับนโยบายและแนวทางการจัดตั้งอุทยานธรณีประเทศไทยให้กับคณะทำงานอุทยานธรณีผาชันสามพันโบก พร้อมเปิดเวทีเสวนา “จากบทเรียนที่ผ่านมาสู่การพัฒนาขับเคลื่อนอุทยานธรณี (ประเทศไทย) ผาชันสามพันโบกไปสู่สากล” เพื่อเตรียมความพร้อมรับ “การประเมินซ้ำอุทยานธรณีประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2566” และตั้งเป้ายกระดับไปสู่การเป็นอุทยานธรณีระดับโลกของยูเนสโกในปี 2567
สำหรับอุทยานธรณีผาชันสามพันโบก จังหวัดอุบลราชธานี มีความสำคัญและความโดดเด่นทางธรณีวิทยาในระดับนานาชาติ ประกอบด้วย
1. มีแหล่งซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์ยุคสุดท้าย ที่มีอายุของไดโนเสาร์อยู่ในยุคที่อ่อนที่สุดในประเทศไทย พบฟอสซิลปลาฉลามน้ำจืด ไฮโบดอนท์ที่เป็นสายพันธุ์ใหม่ของโลกและมีความหลากหลายทางชีวภาพบรรพกาล
2. มีลักษณะธรณีสัณฐานที่โดดเด่น เช่น แหล่งสามพันโบก ที่มีโบกหรือกุมภลักษณ์มากที่สุดในอาเซียน และสามหมื่นรู มีรูของพื้นผิวของหินทรายที่มีความยาวของพื้นที่ที่มีรูมากที่สุดในอาเซียน
นอกจากนี้อุทยานธรณีผาชัน สามพันโบก มีแหล่งมรดกธรณี และแหล่งคุณค่าอื่น ๆ จำนวน 47 แหล่ง ได้แก่ แหล่งมรดกธรณี/แหล่งอนุรักษ์ธรณี จำนวน 9 แหล่ง ประกอบด้วย 1) สามพันโบก 2) สามหมื่นรู 3) เสาเฉลียงยักษ์ 4) สวนหินสีประกายแสง 5) ผาแต้ม 6) ถ้ำปาฏิหาริย์ 7) แหล่งไดโนเสาร์ยุคสุดท้าย น้ำตกผาหลวง 9) ถ้ำมืด” แหล่งท่องเที่ยวเชิงธรณีวิทยาและนิเวศวิทยา จำนวน 33 แหล่ง และแหล่งทางวัฒนธรรม จำนวน 9 แห่ง
อุทยานธรณีผาชันสามพันโบก จังหวัดอุบลราชธานี มีพื้นที่ครอบคลุม 4 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอโพธิ์ไทร อำเภอศรีเมืองใหม่ อำเภอโขงเจียม และบางส่วนของอำเภอสิรินธร มีพื้นที่รวมประมาณ 1,994 ตารางกิโลเมตร 1.25 ล้านไร่ โดยจัดตั้งและประกาศเป็นอุทยานธรณีระดับท้องถิ่น เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2554 (ลำดับที่ 3 ของประเทศไทย รองจากอุทยานธรณีโลกสตูล และอุทยานธรณีโคราช)