เพชรบุรี-ศิษยานุศิษย์ร่วมมุทิตาจิตฉลองอายุมงคล“หลวงพ่อแถม” พระเกจิดังเพชรบุรี ครบรอบ 80 ปี
ภาพ/ข่าว:สุรพล นาคนคร
ศิษยานุศิษย์ร่วมมุทิตาจิตฉลองอายุมงคล“หลวงพ่อแถม” พระเกจิดังเพชรบุรี ครบรอบ 80 ปี
เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.ที่วัดช้างแทงกระจาด ต.สามพระยา อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ได้จัดพิธีบำเพ็ญกุศลฉลองอายุวัฒนมงคลครบรอบ 80 ปี “พระครูมนูญสีลสังวร” หรือ “หลวงพ่อแถม สีลสังวโร” ที่ปรึกษาเจ้าคณะอำเภอชะอำ เจ้าอาวาสวัดช้างแทงกระจาด พระเกจิอาจารย์ชื่อดังแห่งลุ่มน้ำเพชรบุรี โดยมีพระครูปฐมวราจารย์ หรือหลวงพ่ออวยพร ฐิติญาโณ อายุ 80 ปี เจ้าอาวาสวัดดอนยายหอม เจ้าคณะตำบลดอนยายหอม จ.นครปฐม พระครูไพบูลย์รัตนาภรณ์ หรือหลวงพ่อสมบูรณ์ รตนญาโณ วัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ หลวงปู่นน จันทวิโร วัดเขาพรานธูป อ.หัวหิน พระเถระผู้ใหญ่ในเขต จ.เพชรบุรี-ประจวบฯ ศิษยานุศิษย์ และประชาชนจำนวนมากร่วมแสดงมุทิตาสักการะ ซึ่งภายหลังพิธีทำบุญแล้วเจ้าอาวาสวัดช้างแทงกระจาดได้เมตตาแจกทุนการศึกษาให้กับนักเรียนจาก 14 โรงเรียน 3 ตำบลในเขต อ.ชะอำทุนละ 500บาท รวม 140 ทุน พร้อมทั้งปะพรมน้ำพระพุทธมนต์และแจกวัตถุมงคลเหรียญที่ระลึกอายุวัฒนมงคล 80 ปี ให้กับประชาชนทุกคนที่มาร่วมงานด้วย
“หลวงพ่อแถม” ปัจจุบันสิริอายุ 80 ปี พรรษา 58 ดำรงตำแหน่ง เจ้าอาวาสวัดช้างแทงกระจาด ต.สามพระยา อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี มีนามเดิมว่า ถาวร หนูสิงห์ เกิดเมื่อวันศุกร์ขึ้น 14 ค่ำ เดือน 8 ปีมะเมีย ตรงกับวันที่ 26 มิ.ย.2485 ที่บ้านห้วยทรายเหนือ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี บิดา-มารดา ชื่อ นายถมและนางมอม หนูสิงห์ มีพี่น้องร่วมท้องทั้งหมด 5 คน ท่านเป็นคนที่ 3 ด้วยความเป็นเด็กสันโดษ พูดน้อย อายุ 14 ปี บรรพชาที่วัดหนองกระทุ่ม อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี มีพระครูขันตยารักษ์ หรือ หลวงพ่อป๋อง เป็นพระอุปัชฌาย์ ภายหลังบรรพชาอยู่รับใช้อุปัฏฐากหลวงพ่อป๋อง ท่านจึงสอนให้เขียนอักขระเลขยันต์และจารตะกรุดต่างๆเมื่อจารไม่ทันจะให้มาช่วยจารด้วยจึงได้รับความไว้วางใจและได้รับการถ่ายทอดสรรพวิชา นอกจากนี้ยังได้รับการสอนภาษาขอมและอักขระ เลขยันต์ จากนายพรหม ที่เป็นญาติด้วย
กระทั่งหลวงพ่อป๋อง มรณภาพ จึงลาสิกขาออกมาช่วยทางบ้าน จนกระทั่งอายุ 22 ปี เกิดความเบื่อหน่ายทางโลก จึงหันหน้าเข้าวัด อุปสมบทที่วัดช้างแทงกระจาด ต.สามพระยา อ.ชะอำ เมื่อวันที่ 26 เม.ย.2507 มีพระครูวชิรรังสี หรือหลวงพ่อจันทร์ ธัมมสโร วัดมฤคทายวัน อ.ชะอำ เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า “สีลสังวโร” ภายหลังอุปสมบท ท่านตั้งใจศึกษาพระธรรมวินัยอย่างจริงจัง หมั่นพิจารณาคำสอนของครูบาอาจารย์อย่างถ่องแท้ ได้ตัดสินใจอย่างแน่วแน่ว่าจะอุทิศกายถวายชีวิตอยู่ในบวรพระพุทธศาสนาตลอดไป ท่านอยู่จำพรรษาที่วัดช้างแทงกระจาด สำหรับหลวงพ่อจันทร์ วัดมฤคทายวัน พระอุปัชฌาย์ของท่าน เป็นศิษย์เอกของ หลวงพ่อทองศุข วัดโตนดหลวง ต.บางเก่า อ.ชะอำ และหลวงพ่อทองศุขได้ส่งหลวงพ่อจันทร์ มาสร้างอุโบสถวัดช้างแทงกระจาดด้วย
หลวงพ่อแถม ยามมีเวลาว่างจากงาน ศาสนกิจ ได้ไปกราบหลวงพ่อจันทร์ เป็นพระอาจารย์ขอเรียนวิชา ซึ่งหลวงพ่อจันทร์ก็สอนให้ด้วยความเมตตาแบบไม่ปิดบังเมื่อมีทั้งภูมิรู้-ภูมิธรรม อีกทั้งได้สืบทอดสรรพวิชาจากพระเกจิผู้ทรงวิทยาคุณ หลวงพ่อแถมได้นำมาสงเคราะห์ปัดเป่ารักษาชาวบ้านในชุมชนรอบวัดช้างแทงกระจาด ให้อยู่เย็นเป็นสุข แต่ท่านก็ไม่ทิ้งการพัฒนาวัดช้างแทงกระจาด ด้วยท่านมีฝีมือในการก่อสร้างกุฏิ วิหารและศาลาการเปรียญ จึงเสร็จสมบูรณ์ หลวงพ่อแถมได้ไปสร้างวัดขึ้นอีกวัดหนึ่ง คือ วัด ทุ่งญวน และวัดนี้เป็นวัดที่ท่านเคยไปจำพรรษา ต่อมาพ.ศ.2538 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ชั้นโท ในราชทินนาม พระครู มนูญสีลสังวร
หลวงพ่อแถมเป็นพระที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัยอันเป็นที่เคารพบูชาของชาวพุทธศาสนิกชนอีกรูปหนึ่งของเมืองเพชร เป็นพระที่ผู้ใดได้เข้ากราบไหว้จะพบว่าท่านเป็นพระที่เรียบง่าย ใจดี พูดจาไพเราะ ใจเย็น ยิ้มแย้มแจ่มใสกับทุกคน เปี่ยมไปด้วยเมตตา ต้อนรับทุกคนด้วยความเสมอภาค พูดคุยกับญาติโยมอย่างเป็นกันเอง กล่าวได้ว่านามของ หลวงพ่อแถม วัดช้างแทงกระจาด เป็นที่รู้จักกันทั่วประเทศ งานพุทธาภิเษกวัตถุมงคลรุ่นดังแทบทุกรุ่นต้องมีชื่อของท่านเข้าร่วมพิธีด้วยแทบทุกงาน จนได้รับการยกย่องว่าเป็นพระเกจิอาจารย์ระดับแนวหน้าภาคตะวันตก.