อุบลราชธานี-ไหว้พระพุทธนิมิต พระบรมสารีริกธาตุ และ เที่ยวชม ปูชนียวัตถุสำคัญ ที่ “วัดเกษมสำราญ”
ภาพ-ข่าว:ศูนย์ข่าวเฉพาะกิจจังหวัดอุบลราชธานี
วัดเกษมสำราญ เป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง ที่มีผลงานดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2552 ตั้งอยู่ที่บ้านเกษม เลขที่ ๔๕ หมู่ที่ ๙ ตำบลเกษม อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ ๑๑ ร. ๓ ง. ๓๕ ตรว. ที่ธรณีสงฆ์ ๑ ร. ๓ ง. ๕๒ ตรว. วัดเกษมสำราญตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๒๙๑ ประมาณ ๒๗๔ ปี มาแล้ว เดิมชื่อ วัดศรีโพธิ์ชัย ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น วัดเกษมสำราญ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๔ เหตุผลที่เปลี่ยนเพราะเป็นชื่อซ้ำกันกับวัดเจ้าคณะอำเภอตระการพืชผล ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองคณะสงฆ์ไทยใหม่ ชาวบ้านนิยมเรียกว่า วัดใหญ่
วัดเกษมสำราญ เป็นวัดเก่าแก่มากวัดหนึ่งในเขตจังหวัดอุบลราชธานี และเคยมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ตามประวัติเมืองเกษมสีมาปรากฏว่าวัดแห่งนี้เคยมีพระผู้นำระดับสูง (สังฆราช) จากนครเวียงจันทน์มาพักอยู่วัดแห่งนี้ ประกอบกับหมู่บ้านแห่งนี้เคยมีฐานะเป็นเมืองเกษมสีมา มาก่อนระหว่าง ปี พ.ศ. ๒๔๒๕ -๒๔๕๒ ต่อมา เมืองเกษมสีมา รวมกันกับ เมืองอุตรปลนิคม โดยเรียกชื่อใหม่ว่า อำเภออุดรอุบล การปรับปรุงการปกครองยังคงดำเนินต่อไปจนถึงปี พ.ศ. ๒๔๕๕ สมเด็จกรมพระยาดำรงเดชานุภาพเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยได้กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖) ให้ทรงยุบอำเภอ และในวันที่ ๑ กันยายน ๒๔๕๖ และยาวิเศษสิงหนาท เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งสมุหเทศาภิบาล สำเร็จราชการมณฑลอุบลราชธานีได้เปลี่ยนชื่ออำเภออุดรอุบลกลับคืนมาเป็นอำเภอเกษมสีมาอีกครั้งหนึ่ง
การเปลี่ยนแปลงปรับปรุงรูปแบบการปกครองมาถึงปี พ.ศ. ๒๔๕๙ กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศเปลี่ยนชื่อเมืองเป็นจังหวัด ตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองเปลี่ยนเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด ทั้งนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๕๙ เป็นต้นมาและในปีถัดมา เพื่อให้สอดคล้องกับการประกาศเรียกนามเมืองเป็นจังหวัด กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศเปลี่ยนชื่ออำเภอใหม่เมื่อ ๒๔ เมษายน ๒๔๖๐ ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา อำเภอเกษมสีมาก็ได้รับการลดฐานะลงมาเป็นเพียงตำบลจนถึงปัจจุบัน วัดเกษมสำราญเป็นวัดเก่ามีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ดังกล่าวมา
วัดเกษมสำราญ มีอาคารเสนาสนะประกอบด้วย อุโบสถ ขนาด ๖ ม. X ๑๒ ม. สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๗ (สมัย พระอุปัชฌาย์ หัน) สร้างด้วยอิฐถือปูนโครงหลังคามุงด้วยไม้ช่อฟ้า ใบระกาและลวดลายด้วยไม้ตะเคียน พ.ศ.๒๕๑๙ ได้เปลี่ยนหลังคาใหม่เป็นสังกะสี พ.ศ. ๒๕๕๔ เปลี่ยนหลังคาจากสังกะสีเป็นไม้ดังเดิมและเครื่องประกอบตัวอุโบสถใหม่ เช่น ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ให้มีสภาพสมบูรณ์ คือทำขึ้นใหม่เป็นไม้เหมือนเดิม , ศาลาการเปรียญ ขนาด ๑๓ ม. x ๒๘ ม. สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๐ , วิหาร (หอแก้วโนนอาราม) ขนาด ๖.๕๐ ม. X ๖.๕๐ ม. สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๓ , ศาลารูปปั้นพระพิชัยชาญณรงค์ เจ้าเมืองเกษมสีมาและรูปแกะสลักท้าวคัฑนามกับแม่ , อาคารพิพิธภัณฑ์ ขนาด ๖.๐๐ x ๒๐.๐๐ ม. เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ๒ ชั้น , อาคารเรียนศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ๑ หลัง , กุฎิรับรองพระอาคัณตุกะ ปูชนียวัตถุที่สำคัญของวัด คือ พระบรมสารีริกธาตุ (ประดิษฐานชั้นบนอาคารพิพิธภัณฑ์ ได้มาเมื่อ พ.ศ ๒๕๕๔) , ตู้เก็บหนังสือใบลาน ได้มาจากเวียงจันทน์ ๔ ใบ (สมัยพ่อถ่านทุม เจ้าอาวาสรูปแรก) , พระพุทธนิมิต (พระประธานอยู่ในพระอุโบสถ สร้างสมัย เจ้าคณะหมวดสิงห์) , พระพุทธรัตนมงคล (พระประธานในวิหาร อดีตประดิษฐานที่ศาลาการเปรียญหลังเก่า) , หอบูชาอดีตปฐมเจ้าอาวาส พ่อถ่านทุม (เจ้าอาวาสรูปแรก) , เจดีย์อดีตเจ้าอาวาส พ่อถ่านหัน (อุปัชฌาย์ หัน) , เจดีย์อดีตเจ้าอาวาส พ่อถ่านสิงห์ (เจ้าคณะหมวด สิงห์) , เจดีย์อดีตเจ้าอาวาส พ่อถ่านพร (พระครูนันทปัญญาจารย์ นนฺทปญฺโญ (สายเล็น) , รอยพระพุทธบาท (บนวิหารหอแก้ว โนนอาราม) , พระพุทธรูปปูนปั้น (หน้าศาลาเจ้าเมือง สร้างสมัยพระอุปัชฌาย์ หัน)
ลำดับเจ้าอาวาสวัดเกษมสำราญ ๑. ญาถ่านทุม (ผู้สร้างวัด) พ.ศ. ๒๒๙๑ – ๒๓๒๐ ๒. ญาถ่านพรม พ.ศ. ๒๓๒๑ – ๒๓๓๒ ๓. ญาคูสม พ.ศ. ๒๓๓๓ – ๒๓๕๑ ๔. ญาคูซายอด พ.ศ. ๒๓๕๒ – ๒๓๗๐ ๕. ญาคูพันธ์ พ.ศ. ๒๓๙๔ – ๒๔๓๐ ๖. พระชัยสุริยงศ์ พ.ศ. ๒๔๓๑ – ๒๔๔๕ ๗. พระเครือ พ.ศ. ๒๔๔๖ – ๒๔๕๐ ๘. พระสมชาย พ.ศ. ๒๔๕๑ – ๒๔๕๙ ๙. พระปีด พ.ศ. ๒๔๖๐ – ๒๔๖๘ ๑o. พ่อถ่านหัน (พระอุปฌาย์ หัน) พ.ศ. ๒๔๖๙ – ๒๔๘๖ ๑๑. พระอธิการวัน ปญฺญาวโร พ.ศ. ๒๔๘๗ – ๒๔๘๘ ๑๒. เจ้าคณะหมวดสิงห์ พ.ศ. ๒๔๘๙ ๑๓. พระครูนันทปัญญาจารย์ (พ่อถ่านพร นนฺทปัญโญ) พ.ศ. ๒๔๘๙ – ๒๕๓๙ ๑๔. พระครูเกษมธรรมานุวัตร (บุญชู อตฺถกาโม) พ.ศ. ๒๕๓๙ – ปัจจุบัน