อุบลราชธานี-ม.อุบลฯ ร่วมกับ อว. ผลิตบัณฑิตพันธ์ใหม่ Non-degree หลักสูตรวิทยาการข้อมูลและอินเทอร์เน็ต
ภาพ-ข่าว:ศูนย์ข่าวเฉพาะกิจจังหวัดอุบลราชธานี
วันนี้ ( 6 พ.ย.65 ) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวานนี้ ( 5พ.ย.65 ) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ร่วมกับ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดการอบรมหลักสูตรประเภทประกาศนียบัตร (Non-degree) หลักสูตรวิทยาการข้อมูลและอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่งเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัล อย่างเป็นทางการ ให้แก่ ผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปที่ต้องการเพิ่มพูนสมรรถนะ ณ ห้องประชุม Sc.113 ชั้น 1 อาคารวิจัย คณะวิทยาศาสตร์ โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐ์ ดิษเจริญ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นประธานเปิดและ ดร.วิชิต สมบัติ ประธานฝ่ายวิชาการ โครงการจัดการหลักสูตรประเภทประกาศนียบัตร (Non-degree) หลักสูตรวิทยาการข้อมูลและอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่งเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัล คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวรายงานและวัตถุประสงค์การจัดอบรมครั้งนี้ เพื่อจัดการเรียนการสอน การอบรม การเชิญผู้เชี่ยวชาญเพื่อบรรยายสัมมนา และการประชุมศึกษาดูงานภายในประเทศ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมการอบรมในหลักสูตรได้รับการพัฒนาทักษะและสมรรถนะในด้านที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะสามารถช่วยขับเคลื่อนองค์กรด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล โดยมีนโยบายและยุทธศาสตร์ที่สอดคล้องกับการสนับสนุนการ UpSkill/ReSkill ของบุคลากรในองค์กรที่อยู่ในอุตสาหกรรมด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิทัล ตามความต้องการของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมต่อไป
ดร.วิชิต สมบัติ ประธานฝ่ายวิชาการ โครงการจัดการหลักสูตรประเภทประกาศนียบัตร (Non-degree) หลักสูตรวิทยาการข้อมูลและอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่งเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัล คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า สำหรับหลักสูตรโครงการดังกล่าว เป็นหลักสูตรแรกของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งเป็น 1 ใน 30 หลักสูตร ที่ผ่านแบบไม่มีเงื่อนไขจาก 127 หลักสูตร จาก 63 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ที่ได้รับการคัดเลือกพิจารณารอบแรก เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยจัดการเรียนการสอนออกเป็น 3 ระดับ ระดับละ 100 ชั่วโมง ประกอบด้วย ระดับ Beginner Level ที่ช่วยพัฒนาทักษะด้านการเขียนโปรแกรม การใช้งานอุปกรณ์อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง และพื้นฐานวิทยาการข้อมูล ระดับ Intermediate Level ที่ช่วยพัฒนาทักษะการวิเคราะห์และออกแบบนวัตกรรมด้านวิทยาการข้อมูลและการใช้งานอุปกรณ์อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง และระดับ Advanced Level ที่จะทำให้สามารถพัฒนานวัตกรรมในงานด้านวิทยาการข้อมูลและอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่งเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในอาชีพเป้าหมายของผู้เข้ารับการอบรม
จะเห็นได้ว่าในปัจจุบันเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้านนวัตกรรมจําเป็นต้องมีการพัฒนากําลังคนที่มีสมรรถนะและศักยภาพสูงสําหรับการทํางานในอุตสาหกรรมใหม่สู่ New S-Curve เพื่อเปลี่ยนรูปแบบสินค้าและเทคโนโลยี อุตสาหกรรมในอนาคตเหล่านี้ให้เป็นกลไกที่สําคัญ เพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (New Growth Engines) ของประเทศ และยุทธศาสตร์ที่ 5 ที่มุ่งเน้นการพัฒนากําลังคนให้พร้อมเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล (Workforce) สร้างคน สร้างงาน สร้างความเข้มแข็งจากภายใน เพื่อให้บุคลากรในวิชาชีพด้านดิจิทัลมีคุณภาพและปริมาณที่เพียงพอ ในสาขาที่ขาดแคลน มีความสําคัญต่อการสร้างนวัตกรรมดิจิทัล ก่อให้เกิดการจ้างงานแบบใหม่ อาชีพใหม่ และธุรกิจใหม่ จากการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งประเทศไทยยังมีความขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถสูง เพื่อตอบสนองภาคอุตสาหกรรมได้อย่างเพียงพอในอนาคต