สุพรรณบุรี-ฟืนฟูอนุรักษ์สืบสานประเพณีบุญข้าวเม่าเก่าแก่สืบทอดกันมานับ 100 ปี
ภาพ-ข่าว:รัตนา สว่างศรี
ชุมชนลาวเวียงบ้านจร้าเก่า อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ฟืนฟูอนุรักษ์สืบสานประเพณี บุญข้าวเม่า ประเพณีเก่าแก่ที่สืบทอดกันมานับ100ปี ก่อนที่จะเลือนหายตามกาลเวลา ฟ้อนรำสนุกสนาน สร้างความรัก ความสามัคคีในชุมชน จัดแข่งขันกินข้าเม่า บางรายขอยอมแพ้กลัว น้ำตาลเบาหวานขึ้น
ไปกันที่วัดจำปา หมู่ 1 ต.บ้านโข้ง อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี พระครูอาทรธรรมประทีป เจ้าคณะตำบลบ้านโข้ง เขต1 และเจ้าอาวาสวัดจำปา นายมนตรี คำตัน นายกเทศมนตรีตำบลบ้านโข้ง และนางจุฑามาศ ธรรมจาดี ประธานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรผ้าทอตีนจกและผ้าทอพื้นเมือง ตำบลบ้านโข้ง ชาวบ้านชุมชนลาวเวียงบ้านจร้าเก่า กำนันผู้ใหญ่บ้าน พร้อมด้วยชาวบ้าน จำนวน 6 หมู่บ้านใน ต.บ้านโข้ง อ.อู่ทอง พร้อมใจกันจัดงานประเพณีบุญข้าวเม่า ซึ่งเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยจะจัดงานขึ้นในช่วงเดือนสิบสอง ซึ่งในช่วงที่ข้าวตั้งท้องออกรวง เปลี่ยนเป็นเมล็ดข้าวแล้ว ก่อนข้าวจะสุกเต็มที่ชาวบ้านก็จะเก็บมา ทำข้าวมาตำข้าวเม่าไว้ทำบุญถวายพระและเอาไว้กินกันในช่วงนี้ ชาวบ้านจึงเรียกพิธีช่วงนี้ว่า “บุญข้าวเม่า”
ส่วนการแต่งกายของผู้ที่มาร่วมงานบุญข้าวเม่า ชาวบ้านจะแต่งกายด้วยเสื้อแส่ว นุ่งผ้าซิ้นตีนจกอย่างสวยงาม มีการแสดงฟ้อนรำ ชาวบ้านบางรายนำเอาอุปกรณ์การหาปลาในสมัยโบราณย้อนยุคมารำด้วย โชว์การทอดแหหาปลา และการแข่งขันกินข้าวเม่า ที่ใส่มะพร้าวขูดและน้ำตาลสีรำ หรือน้ำตาลทรายแดง ด้วย เป็นการสร้างความสนุกสนาน สร้างความสามัคคี ให้กับคนในชุมชนชาวลาวเวียง ผู้เข้าร่วมการแข่งขันกินข้าวเม่าบางราย กินสู้ไม่ได้ถึงกับเอ่ยปากขอยอมแพ้ เนื่องจากกลัวน้ำตาลเบาหวานขึ้น เดี๋ยวต้องกลับไปกินยาลดน้ำตาลที่บ้านอีก ซึ่งในสมัยโบราณเมื่อถึงเวลาใกล้เก็บเกี่ยวข้าวได้ หรือข้าวพอเม่าการตำข้าวเม่า เมื่อข้าวออกรวงจวนจะเกี่ยวชาวนาจะนำข้าวมานวดแล้ว ใส่กระทะคั่วไฟพอสุก แล้วนำมาตำ ฝัดเอาแกลบออกและกระทัยเอาผงและเศษรำออก แล้วนำมาเอามะพร้าวที่ขูดเอาไว้มาคลุก ใส่น้ำตาลสีรำ หรือน้ำตาลทรายแดง นำมารับประทานเป็นของหวาน และนำไปบูชาศาลเจ้าบ้าน (สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในหมู่บ้าน) และนำไปทำบุญถวายพระสงฆ์ที่วัด ซึ่งคนสมัยก่อนเชื่อว่าการทำนาจะ ได้ผลผลิตที่อุดมสมบูรณ์ ในยุคปัจจุบันประเพณีตำข้าวเม่าอันดีงามเหล่านี้ได้จางหายไป ทางชุมชนจึงได้ร่วมกันอนุรักษ์ฟื้นฟูขึ้น จึงได้จัดงานเพื่อฟื้นฟูประเพณีตำข้าวเม่า งานบุญข้าวเม่า ขึ้นมาให้คนรุ่นหลังได้อนุรักษ์และสืบทอดกันต่อไป
ซึ่งวิธีขึ้นตอนการทำข้าวเม่านั้น สามารถทำได้จากทั้งเมล็ดข้าวเหนียวและเมล็ดข้าวจ้าว แต่ส่วนใหญ่มักจะทำจากเมล็ดข้าวเหนียวมากกว่า เนื่องจากข้าวจ้าวนั้นแข็ง ทำให้ตำยาก ตำแล้วเมล็ดข้าวค่อยไม่สวย มีวิธีการทำดังนี้ การทำข้าวเม่า เลือกรวงข้าวที่แก่จัดมาทำ โดยสังเกตุได้จากรวงข้าวเริ่มโค้ง หรือจากการแกะเมล็ดข้าวทดสอบดูก่อน นำรวงข้าวมานวดเอาเมล็ดออกจากรวงข้าวโดยการขึ้นไปเหยียบข้าว เพื่อให้เมล็ดหลุดออกจากรวงข้าว หรือที่เรียกว่ายีข้าว นำกระด้งมาใส่เมล็ดข้าวทำการฝัดเมล็ดข้าว เพื่อคัดเอาเมล็ดที่ลีบออกให้หมด นำเมล็ดข้าวไปคั่ว โดยใช้ไฟความร้อนสูงใช้ไม้ไผ่คนเมล็ดข้าวตลอดเวลา เพื่อให้ได้รับความร้อนอย่างทั่วถึง ใช้เวลาในการคั่วไฟประมาณ 15 – 20 นาที หรือสังเกตุจากการที่เมล็ดข้าวเริ่มแตก จึงนำเมล็ดข้าวที่คั่วสกแล้ว มาใส่ครก เพื่อทำการตำ เอาเปลือกข้าวออก จะได้เมล็ดข้าวลักษณะแบน ๆ ใช้เวลาตำประมาณ 15 นาที หรือจนกว่าเปลือกข้าวจะออกจากเมล็ดหมด นำเมล็ดข้าวที่ตำแล้ว มาใส่กระด้งทำการฝัดเพื่อแยกเอาเปลือกข้าวออกจาก ข้าวเม่า จะได้ ข้าวเม่าที่พร้อมรับประทาน ถ้าทำสุกใหม่ ๆ ข้าวเม่าจะนิ่มและมีกล่นหอมมาก เราสามารถนำข้าวเม่า รับประทานได้เลยหรือนำไปคลุกเคล้ากับมะพร้าวขูดและน้ำตาลทรายแดง รับรองว่าอร่อยแน่นอน
ด้านพระครู อาทรธรรมประทีป เจ้าคณะตำบลบ้านโข้ง เขต1 และเจ้าอาวาสวัดจำปา กล่าวว่าประเพณีตำข้าวเม่า เป็นวิถีชีวิตของชาวลาวเวียง มีมาแต่โบราณ ซึ่งปัจจุบัน ด้วยกาลเวลาเปลี่ยนไป วิถีชีวิตดั้งเดิมก็เริ่มจะสูญหาย ลดลงไปตามกาลเวลา ชุมชนชาวลาวเวียง ตำบลบ้านโข้ง อ.อู่ทอง ได้เล็งเห็นความสำคัญ จึงร่วมใจกัน จัดกิจกรรมประเพณีตำข้าวเม่า งานบุญข้าวเม่า ขึ้นมา เพื่อเป็นการสืบสานวัฒนธรรมวิถีชีวิตชาวนาที่มีมาแต่โบราณ สืบไว้ให้ลูกหลานได้รู้จักและช่วยกันสืบทอดต่อไป ซึ่งตอนที่ตนยังเป็นเด็กก็เคยตำข้าวเม่ามาเหมือนกัน จึงอยากอนุรักษ์ประเพณีตำข้าวเม่านี้ ไม่ให้เลือนหายตามกาลเวลา จึงขอให้ช่วยกับอนุรักษ์สืบสานเอาไว้ให้เยาวชนรุ่นหลังได้สืบทอดต่อไป