เพชรบุรี-เริ่มแล้ว..!!เทศกาลล่าปลาบึกเขื่อนแก่งกระจาน
ภาพ-ข่าว: สุรพล นาคนคร
“3 วันจับได้กว่า 10 ตัว ใหญ่สุดนำหนัก 173 กิโล ปีนี้อนุญาตให้จับได้ 50 ตัว ในระยะเวลา 2 เดือน”
นายเอกชัย เตชะวันโต หัวหน้าหน่วยป้องกันและปราบปรามประมงน้ำจืดเขื่อนแก่งกระจาน เปิดเผยว่า เขื่อนแก่งกระจานเป็นแหล่งนํ้าสําคัญของจังหวัดเพชรบุรี ช่วงปี 2528 สมัยที่นายเชาน์วัศ สุดลาภา เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ได้มีการนำปลาบึกมาปล่อยในเขื่อนแก่งกระจานไว้จำนวนมาก ต่อมามีชาวประมงจับปลาในลักษณะเดียวกันได้ และคิดว่าเป็นปลาสวาย เนื่องจากมีลักษณะคล้ายกัน มีน้ำหนักตัวประมาณ 5-6 กิโลกรัม เมื่อหน่วยงานของกรมประมงทราบข่าวและติดตามไปดูปลาที่ชาวบ้านจับมาขายจนพบว่าเป็นปลาบึกจึงได้มีการประชาสัมพันธ์และให้งดจับปลาบึกในช่วงนั้นเนื่องจากยังมีขนาดเล็ก กระทั่งในปี 2546 มีการจับปลาบึกที่มีขนาดใหญ่ได้อีกครั้ง และมีกลุ่มพรานออกล่าจับปลาบึกได้เป็นจำนวนมากในช่วงปลายฝนต้นหนาวของทุกปี
เพื่อควบคุมปริมาณปลาบึกไม่ให้ลดจำนวนลง หน่วยป้องกันและปราบปรามประมงน้ำจืดเขื่อนแก่งกระจาน จึงได้ออกกฎ กติกา กำหนดมาตรการ หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขการทําประมงปลาบึก ประจำปี 25645 ขึ้น โดยกำหนดให้ทำการจับปลาบึกได้ จำนวน 50 ตัว เริ่มตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน 2565 ถึงวันที่ 20 มกราคม 2566 หากจับได้ก่อนถึงก่อนถือเป็นการหยุดกิจกรรมทันที ทั้งนี้ผู้ที่จะทำการประมงปลาบึกต้องเสียค่าลงสมัครคนละ 100 บาท ใช้เครื่องมืออวนขนาด 50 เซนติเมตรขึ้นไป รวมถึงจะต้องสนับสนุนงบประมาณเข้ากลุ่ม จำนวน 1,000๑๐๐๐ บาท ต่อปลา 1 ตัว เข้ากลุ่มอวนกองละ 10 บาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าตั้งแต่เริ่มเทศกาลล่าปลาบึกเขื่อนแก่งกระจานมาแล้ว 3 วัน มีชาวประมงสามารถจับปลาบึกได้แล้วกว่า 10 ตัว ปลาบึกตัวใหญ่สุดมีน้ำหนักตัวถึง 173 กิโล ซึ่งปลาบึกที่จับได้ถ้าเป็นปลาตายจะมีแม่ค้ามารับซื้อเพื่อส่งร้านอาหารในราคากิโลกรัมละ 100 บาท ถ้าเป็นปลาเป็นจะมีเจ้าของบ่อตกปลา (ฟิชชิ่งปาร์ค) มาซื้อในราคากิโลกรัมละ 150 บาท เพื่อนำไปปล่อยในบ่อตกปลาให้นักตกปลามาตกอีกด้วย