สุพรรณบุรี-สมาคมกีฬาจักรยานฯ อบรมพัฒนาผู้ฝึกสอนและช่างกีฬาจักรยานประเภทลู่ ระดับ 2

สุพรรณบุรี-สมาคมกีฬาจักรยานฯ อบรมพัฒนาผู้ฝึกสอนและช่างกีฬาจักรยานประเภทลู่ ระดับ 2

ภาพ-ข่าว:รัตนา สว่างศรี

                “สองล้อ” จัดอบรมพัฒนาผู้ฝึกสอนและช่างกีฬาจักรยานประเภทลู่ ระดับ 2 หลักสูตร Track Coaching Course (Level 2) & Mechanics ได้ประโยชน์เพียบ บรรดาผู้ที่เข้ารับการอบรมทั้ง “ร.อ.หญิง จุฑาธิป มณีพันธุ์” และ “พ.ต.หญิง จันทร์เพ็ง นนทะสิน จากทีมสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม, “พ.อ.อ.หญิง เฉลิม ชมภูศรี จากทีมฟิชเชอร์แมน กองบิน 46 พิษณุโลก และ “ด.ต.อุทัยวุฒิ ติธิ” จากทีมสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าได้ความรู้ใหม่ ๆ และรู้หลักเกณฑ์ในการฝึกสอนนักกีฬา ขณะที่ “จอนส์ ไทโรน” วิทยากรชาวแอฟริกาใต้ และ “ไมเคิล นูแนน” วิทยากรชาวอเมริกัน ชื่นชมผู้ฝึกสอนไทยที่เข้าอบรมให้ความสนใจและเรียนรู้ได้เร็ว พร้อมชื่นชมสมาคมกีฬาจักรยานฯ ที่มีวิสัยทัศน์จัดการอบรมเพื่อพัฒนาบุคลากรกีฬาจักรยานอย่างต่อเนื่อง
                “เสธ.หมึก” พลเอกเดชา เหมกระศรี นายกสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า ตามที่สมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทยฯ ได้จัดการอบรมพัฒนาผู้ฝึกสอนและช่างกีฬาจักรยานประเภทลู่ ระดับ 2 หลักสูตร Track Coaching Course (Level 2) & Mechanics ระหว่างวันที่ 16-23 พฤศจิกายน ที่โรงแรมวาสิฏฐี ซิตี้ จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งมีผู้ฝึกสอนจากสโมสรสมาชิกจำนวน 30 คน เข้ารับการอบรม โดยสหพันธ์จักรยานนานาชาติ หรือ “ยูซีไอ” ได้ส่ง นายจอนส์ ไทโรน วิทยากรชาวแอฟริกาใต้ และ นายไมเคิล นูแนน วิทยากรชาวอเมริกันที่มีความเชี่ยวชาญด้านช่างจักรยานมาให้ความรู้แก่ผู้ที่เข้ารับการอบรม สำหรับการจัดอบรมในครั้งนี้สมาคมกีฬาจักรยานฯ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองพัฒนาบุคลากรกีฬา ฝ่ายพัฒนากีฬาเป็นเลิศ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.)
                  พลเอกเดชา กล่าวว่า การอบรมในครั้งนี้ ผู้ฝึกสอนที่เข้ารับการอบรมทั้ง 30 คน ต้องมีการอบรมทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ มีการสอบข้อเขียนและการสอบปากเปล่า ผู้ที่ผ่านการอบรมแล้วก็จะนำความรู้ที่ได้รับไปถ่ายทอดให้นักกีฬาจักรยานในสังกัดสโมสรของตัวเองให้มีการพัฒนาศักยภาพและก้าวไปสู่ความเป็นเลิศต่อไป การที่สมาคมกีฬาจักรยานฯ ได้จัดการอบรมอย่างต่อเนื่อง นอกจากเป็นการเพิ่มพูนความรู้ให้แก่บุคลากรแล้ว ยังเป็นการยกระดับผู้ฝึกสอนชาวไทยให้เป็นที่ยอมรับของประเทศต่าง ๆ ซึ่งในปี 2566 สมาคมฯ มีแผนการพัฒนาบุคลากรทั้งผู้ตัดสิน ผู้ฝึกสอน และช่างจักรยานประเภทต่าง ๆ ในระดับที่สูงขึ้น จะเห็นได้ว่าสมาคมกีฬาจักรยานฯ ทำงานกันอย่างหนักตลอดทั้งปีโดยไม่มีการหยุดพัก เพื่อพัฒนาวงการจักรยานของไทยให้ก้าวไปสู่แถวหน้าของเอเชีย
                  ด้านนายจอนส์ ไทโรน วิทยากรชาวแอฟริกาใต้ เปิดเผยว่า การที่ตนได้รับมอบหมายจาก “ยูซีไอ” ให้มาเป็นวิทยากรในการอบรมครั้งนี้ ก็มั่นใจว่าผู้เข้ารับการอบรมทุกคนจะได้รับความรู้ในการเป็นผู้ฝึกสอน ทุกคนให้ความสนใจในการอบรมเป็นอย่างดี ประการสำคัญผู้เข้ารับการอบรมส่วนใหญ่มีความรู้พื้นฐานด้านกีฬาจักรยานอยู่แล้วจึงทำให้เรียนรู้และเข้าใจได้เร็ว สามารถเข้าใจพื้นฐานการเขียนแผนการสอนไปใช้ในการฝึกสอนนักกีฬาของตัวเองได้
                   ส่วนนายไมเคิล นูแนน วิทยากรชาวอเมริกัน กล่าวว่า การอบรมพัฒนาผู้ฝึกสอนและช่างกีฬาจักรยานประเภทลู่ ระดับ 2 หลักสูตร Track Coaching Course (Level 2) & Mechanics มีการทดสอบทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ซึ่งผู้เข้าร่วมอบรมชาวไทยทุกคนสามารถสอบผ่านเกินเกณฑ์มาตรฐาน และผู้ที่ผ่านการอบรมจะได้รับประกาศนียบัตรจาก “ยูซีไอ” หลังจบการอบรมทุกคน สิ่งสำคัญที่สุดต้องขอชื่นชมสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทยฯ ที่มีวิสัยทัศน์จัดการอบรมเพื่อพัฒนาบุคลากรกีฬาจักรยานอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ผู้เข้ารับการอบรมอย่าง พันตรีหญิง จันทร์เพ็ง นนทะสิน นักปั่นทีมชาติไทยและผู้ฝึกสอนทีมสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า การเข้ารับการอบรมครั้งนี้เป็นการเพิ่มพูนความรู้ใหม่ ๆ ซึ่งแตกต่างจากการเป็นนักกีฬาอย่างสิ้นเชิง วิทยากรทั้ง 2 ท่านมีการสอนเป็นขั้นเป็นตอน ทำให้เรารู้หลักการสอนนักกีฬาเด็กๆ ว่าจะต้องเริ่มสอนจากจุดไหนอย่างไร เริ่มตั้งแต่ขั้นพื้นฐานมาเลย ต่อไปเมื่อเราก้าวขึ้นไปเป็นผู้ฝึกสอนอย่างเต็มตัวก็จะนำความรู้จากจุดนี้ไปสอนนักกีฬาได้ ซึ่งตอนแรกตนก็วิตกว่าเราจะเริ่มต้นอย่างไร แต่พอได้มาอบรมแล้วก็ทำให้ทราบวิธีการต่าง ๆ เป็นอย่างดี ถือว่าคุ้มค่ามากที่ได้มารับอบรมในครั้งนี้
                    “ผู้กองบีซ” ร้อยเอกหญิง จุฑาธิป มณีพันธุ์ นักปั่นทีมชาติไทยจากทีมสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ได้กล่าวว่า นับว่าเป็นความโชคดีที่มีโอกาสเข้ารับการอบรม เนื่องจากตนเองเป็นนักกีฬาอยู่แล้ว เมื่อมาอบรมผู้ฝึกสอนก็ทำให้เข้าใจแผนการฝึกซ้อมได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังได้รับความรู้ใหม่ ๆ ในการที่จะก้าวขึ้นไปเป็นผู้ฝึกสอนในอนาคต ทำให้รู้หลักเกณฑ์และทำแผนการฝึกสอนเพื่อถ่ายทอดความรู้ให้นักกีฬารุ่นน้อง ๆ เมื่อถึงเวลาที่เราไปทำทีมจริง ๆ ตนก็จะนำความรู้จากการอบรมไปผสมผสานกับประสบการณ์ในการเป็นนักกีฬาไปพัฒนานักปั่นหน้าใหม่ได้ง่ายขึ้น หากเราไม่ได้รับการอบรมก็จะอาจจะสอนนักกีฬาตามประสบการณ์เพียงอย่างเดียว ซึ่งไม่ถูกหลักเกณฑ์ 100% ดังนั้นการอบรมครั้งนี้ตนได้รับความรู้เป็นอย่างมาก ต้องขอขอบคุณ พลเอกเดชา เหมกระศรี นายกสมาคมกีฬาจักรยานฯ ที่ให้โอกาสมาเรียนรู้ในครั้งนี้ หากโอกาสหน้ามีการอบรมหลักสูตรอื่น ๆ ตนก็อยากจะเข้ารับอบรมอีกเพื่อพัฒนาศักยภาพของตัวเองให้สูงขึ้น
                     พ.อ.อ.หญิง เฉลิม ชมภูศรี ผู้ฝึกสอนจากศูนย์จักรยานฟิชเชอร์แมนเฟรนด์ กองบิน 46 พิษณุโลก เปิดเผยว่า การอบรมพัฒนาผู้ฝึกสอนและช่างกีฬาจักรยานประเภทลู่ ระดับ 2 มันเป็นการอบรมที่เข้มข้นขึ้นมากกว่าตอนอบรมรมในระดับ 1 มีการลงรายละเอียดต่าง ๆ ทำให้เรามีความเข้าใจเนื้อหาของการฝึกโดยกระจ่าง สามารถนำความรู้ใหม่ ๆ ไปถ่ายทอดให้นักกีฬาได้ดีกว่าเดิม รวมไปถึงการอบรมช่างที่มีเทคนิคใหม่ ๆ นำไปช่วยทีมได้เป็นอย่างดี ทำให้เรารู้ถึงอุปกรณ์รถแบบใหม่ ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เราจะไปใช้อุปกรณ์แบบเก่า ๆ มันก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะโลกมันพัฒนาไปไกลแล้ว การเข้ารับอบรมครั้งนี้มีประโยชน์อย่างมาก อยากให้ผู้ฝึกสอนทุกคนได้ผ่านการอบรมหลักสูตร ระดับ 2 ทำให้เรารู้ลึก รู้จริง และนำไปใช้กับทีมได้เป็นอย่างดี
                     ด.ต.อุทัยวุฒิ ติธิ ผู้ฝึกสอนจากสโมสรจักรยานสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ทีมสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีนักกีฬาลู่จำนวนมากพอสมควร การที่ตนมีโอกาสเข้ามารับการอบรมผู้ฝึกสอนจักรยานประเภทลู่ครั้งนี้จึงมีประโยชน์มาก ซึ่งทางสหพันธ์จักรยานนานาชาติ หรือ ยูซีไอ ได้ส่งวิทยากรที่มีความรู้ความสามารถมาถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้เข้ารับการอบรมได้เป็นอย่างดี เป็นการต่อยอดให้ผู้ฝึกสอนแต่ละสโมสรนำความรู้ไปพัฒนานักกีฬาและมีทิศทางที่ถูกต้อง รวมถึงความรู้เรื่องช่างซ่อมจักรยานก็มีเทคนิคใหม่ ๆ ที่มาสอนเราว่าทำอย่างไรจะให้จักรยานมีความเร็วมากกว่าเดิม และมีความปลอดภัยมากขึ้น นับว่ามีประโยชน์เป็นอย่างยิ่งในการเข้าอบรมครั้งนี้

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!