เชียงใหม่-มท.1 เปิดการสัมมนาองค์การบริหารส่วนจังหวัดทั่วประเทศ
พร้อมปาฐกถาพิเศษ “บริบทท้องถิ่นกับการพัฒนาประเทศในปัจจุบัน”
ภาพ-ข่าว:สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดการฝึกอบรมสัมมนาวิชาการ องค์การบริหารส่วนจังหวัดทั่วประเทศพร้อมปาฐกถาพิเศษ “บริบทท้องถิ่นกับการพัฒนาประเทศในปัจจุบัน” ย้ำ 4 ประเด็นช่วยพัฒนาและส่งเสริมการบริหารงานขององค์การบริหารส่วนจังหวัดให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
วันนี้ (22 ธ.ค. 65) ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษาฯ จังหวัดเชียงใหม่ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมสัมมนาวิชาการบริบทท้องถิ่นกับการพัฒนาประเทศในปัจจุบันพร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษ จัดโดยสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย โดยมีผู้บริหารองค์การบริหารส่วนจังหวัด 76 จังหวัดทั่วประเทศ รวม 3,700 คน เข้าร่วมการสัมมนา และมีนายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ร่วมต้อนรับ
สำหรับการจัดโครงการอบรมสัมมนาทางวิชาการครั้งนี้ สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย ได้เห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาและบริหารงานขององค์การบริหารส่วนจังหวัดซึ่งเป็นการกระจายอำนาจการบริหารจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จึงร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ จัดอบรมสัมมนาวิชาการ บริบทท้องถิ่นกับการพัฒนาประเทศในปัจจุบันขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทสังคม การจัดบริการสาธารณะและกิจกรรมสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งเสริมสร้างองค์ความรู้ให้มีความเข้าใจที่ถูกต้อง ในเรื่องการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนกลยุทธ์และการเรียนรู้ด้านต่าง ๆ ให้เพิ่มพูนทักษะในการปฏิบัติงานให้กับบุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ทันกับสังคมที่เปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน
ในการนี้ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ปาฐกถาพิเศษโดยเน้นย้ำประเด็นสำคัญ 4 เรื่อง เพื่อเป็นแนวทางช่วยพัฒนาและส่งเสริมการบริหารงานขององค์การบริหารส่วนจังหวัดทุกแห่งให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ประกอบด้วย เจตนารมย์ของการกระจายอำนาจ, แนวทางการพัฒนาท้องถิ่นให้สอดรับกับการพัฒนาประเทศและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารท้องถิ่น และการใช้หลักธรรมาภิบาล ซึ่งถือเป็นต้นน้ำสำคัญที่ทำให้การบริหารงานท้องถิ่นได้รับการยกย่องและการยอมรับจากพี่น้องประชาชน