ปราจีนบุรี-ชาวศรีมโหสถแห่ค้านกรมศิลป์ เปลี่ยนชื่อ ภูเขาทอง เป็นเชิงเทินสังเกตการณ์

ปราจีนบุรี-ชาวศรีมโหสถแห่ค้านกรมศิลป์ เปลี่ยนชื่อ ภูเขาทอง เป็นเชิงเทินสังเกตการณ์

มานิตย์ สนับบุญ

          วันนี้ 18 มกราคม 2566 ผู้สื่อข่าวจ.ปราจีนบุรีรายงานว่านายกำพล ภู่มณี อดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดปราจีนบุรี(สว.) เปิดเผยว่า ตนและชาวจังหวัดปราจีนบุรีจำนวนหนึ่ง ร่วมลงนามท้ายจดหมายส่งร้องเรียนถึงนายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อขอให้พิจารณาแจ้งไปยังกรมศิลปากรให้ทบทวนการเปลี่ยนป้ายชื่อ ‘โบราณสถานหมายเลข 3 อําเภอศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี จาก ‘เจดีย์ภูเขาทอง’ เป็น ‘เชิงเทินสําหรับสังเกตการณ์ของเมือง’ รวมถึงชี้แจงข้อมูลในประเด็นดังกล่าว
          นายกำพล กล่าวว่า ตนและประชาชนชาวอำเภอศรีมโหสถส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนชื่อดังกล่าว ซึ่งอาจส่งผลต่อความเสียหายในประวัติศาสตร์เมืองศรีมโหสถ และความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาในอดีต เนื่องจาก โบราณสถานหมายเลข 3 เจดีย์ภูเขาทองน่าจะเป็นเจดีย์หรือสถูปที่สําคัญทางพระพุทธศาสนาของเมืองศรีมโหสถโบราณมากกว่าจะเป็นเพียงเชิงเทินสังเกตการณ์ เพราะลักษณะของเมืองโบราณในสมัยทวารวดีไม่ว่าจะเป็นเมืองคูบัว เมืองนครปฐมโบราณและเมืองศรีมโหสถ ไม่ปรากฏโบราณสถานในลักษณะเชิงเทินสังเกตการณ์ทางต้นทิศตะวันตกหรือนอกเมืองแต่อย่างใด แต่จะมีรูปแบบที่ชัดเจนว่ามีสถูปหรือเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุหรือพระบรมธาตุเจดีย์อยูทางด้านทิศตะวันตก นอกเมือง ด้วยคติความเชื่อว่าได้ตั้งอยู่ใกล้สถานที่ที่พระพุทธองค์ประสูติตรัสรู้ ปรินิพพานมากที่สุด “ข้อสังเกตที่สําคัญประการหนึ่งก็คือ ได้มีการขุดพบพระพุทธรูปทองคําคือพระนิรันตรายในสมัยรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านพระบรมธาตุเจดีย์ กล่าวว่าพระพุทธรูปทองคําดังกล่าวมีความเกี่ยวเนื่องกับสถานที่ที่ตั้งของเจดีย์ภูเขาทองในทางพระพุทธศาสนาคือ น่าจะเป็นพุทธบูชาต่อพระเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุดังกล่าว หากเป็นเชิงเทินสังเกตการณ์ ก็จะไม่มีการพบพระพุทธรูปหรือสิ่งของที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนาอยู่ในบริเวณนี้ นอกจากนี้ ทางด้านทิศตะวันตกของเมืองศรีมโหสถโบราณ สถานเป็นชายฝั่งทะเลไม่มีข้าศึกมารุกรานหากเป็นการสร้างเชิงเทินสําหรับภัยศึกสงครามควรสร้างทางด้านทิศตะวันออก ซึ่งอยู่ใกล้กับพวกจามหรือพวกขอมมากกว่า ส่วนทางด้านทิศตะวันตกของเมืองศรีมโหสถ จึงปรากฏโบราณสถานที่ที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนา เช่น ต้นพระศรีมหาโพธิ รอยพระพุทธบาทคู่ และเจดีย์ภูเขาทอง เป็นต้น ซึ่งเป็นหลักฐานสําคัญว่าเมืองศรีมโหสถมีความเจริญรุ่งเรืองทางพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก และคติความเชื่อของผู้คนในยุคนั้นก็จะต้องสร้างพระเจดีย์บรรจุพระบรมธาตุของเมืองไว้กราบไหว้สักการะ ดังนั้นเจดีย์ภูเขาทองจึงน่าจะเป็นเจดีย์สําหรับบรรจุพระบรมธาตุของเมืองมากกว่าจะเป็นเชิงเทินสําหรับสังเกตการณ์ตามที่กรมศิลปากรได้เขียนไว้” นายกำพลกล่าว
          นายกำพลกล่าวต่อไปว่า ประเด็นเรื่องแนวคิดความเชื่อทางด้านประวัติศาสตร์ นั่นเป็นเรื่องที่สําคัญมาก เปลี่ยนแปลงแก้ไขตามข้อมูลใหม่ได้ สําหรับกรณีของ เจดีย์ภูเขาทองก็เช่นเดียวกัน จากภาพการขุดแต่งโบราณสถานซึ่งมีลักษณะของเจดีย์โบราณและลักษณะทางด้านกายภาพของเมือง มีความชัดเจนว่า เจดีย์ภูเขาทองจะต้องเป็นสถานที่ที่มีความสําคัญต่อเมืองศรีมโหสถ ทางด้านพระพุทธศาสนา อาทิเช่นเป็นพระบรมธาตุเจดีย์ของเมืองและรอการสืบค้นต่อไป “พวกเราใคร่ขอความเมตตาจาก ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้โปรดพิจารณาเป็นกรณีพิเศษเร่งด่วนเพื่อความถูกต้องชัดเจนของประวัติศาสตร์ของเมืองศรีมโหสถ และคตินิยมในทางพระพุทธศาสนา” นายกำพลกล่าว
          ทั้งนี้ เมืองมโหสถเป็นเมืองโบราณแบบทวารวดี อายุราว 1,500 ปีมาแล้ว ตั้งแต่ พ.ศ. 1000 มีคูน้ำคันดินล้อมรอบรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามุมมน อยู่บนพื้นที่ดอนสูง ขอบที่ราบลุ่มต่ำทางตะวันตกลาดลงแม่น้ำบางปะกงออกทะเลอ่าวไทย สำหรับโบราณสถานหมายเลข 3 เคยมีการพบพระพุทธรูปทองคำ ฝีมือช่างแบบทวารวดี อายุกว่าพันปี ชาวบ้านนำทูลเกล้าฯ ถวาย ร.4 พระราชทานนามว่า “พระนิรันตราย” อัญเชิญไว้ในพระบรมมหาราชวัง บริเวณที่พบพระนิรันตรายทองคำ ชาวบ้านเรียกตามความเชื่อว่า ‘ภูเขาทอง’ อยู่นอกคูน้ำคันดินด้านตะวันตก เป็นเนินดินทรงกลมสูง 10 เมตร วงรอบฐาน 92 เมตร ตรงกลางอัดด้วยดินลูกรัง บริเวณรอบฐานมีเสาศิลาแลงทรงกลมและแปดเหลี่ยม ส่วนด้านตะวันออกมีบ่อน้ำ 1 บ่อ ต่อมาสำนักศิลปากรที่ 5 ปราจีนบุรี กรมศิลปากร จัดทำป้ายใหม่ โดยระบุว่าเป็น ‘เชิงเทินสังเกตการณ์ด้านปัจฉิมทิศ’ มีข้อความอธิบายว่า เนินสูงใหญ่กว่า 10 เมตร ชาวเมืองมโหสถโบราณสร้างเทินขึ้นด้วยลูกรังและก่อชาลาด้วยศิลาแลง เพื่อเป็นที่สังเกตการณ์ระยะไกลจากนอกเมืองด้านตะวันตกและรักษาความปลอดภัย เนื่องจากกำแพงเมืองด้านนี้ไม่มีช่องทางเข้า-ออก จากการขุดค้นทางโบราณคดีพบฐานเสาล้อมเนิน บางต้นเจาะรูกลางเสา สันนิฐานว่าใช้ปักเสาไม้วางคบเพลิงเพื่อส่องสว่างยามค่ำคืน เนินนี้น่าจะสร้างขึ้นพร้อมกับการสร้างเมือง 1,500 ปีมาแล้ว
          ด้านพระครูปัญญา กิจจาทร เจ้าอาวาสวัดโคกปีบ กล่าวว่า โบราณสถาน ภูเขาทองแห่งนี้ พบเห็นมาตั้งแต่เด็กและชาวบ้านเรียกกันว่า ภูเขาทอง เชื่อสืบต่อกันมามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์อาทิโบราณวัตถุภายใต้เนินดินนี้ เพราะตั้งแต่ดั้งเดิม ได้ขุดพบพระพุทธรูปทองคำ หรือ พระนิรันตราย และได้นำทูลเกล้าถวายรัชกาลที่ 4 สมัยที่ตนเป็นเด็ก เนินดินจะสูงกว่าปัจจุบันราว2-3เมตร ภายหลังคาดถูกชะล้างต่ำลงมาด้านในจะมีถ้ำเข้าไปแต่ถ้ำถูกชะล้างหายไปหมดแล้ว และมีศาลตั้งด้านหน้าภูเขาทองแห่งนี้ ชาวท้องถิ่น อ.ศรีมโหสถหลังทราบว่าทางกรมศิลฯได้เปลี่ยนป้ายชื่อโบราณสถานดังกล่าวเป็นเชิงเทินสังเกตการณ์ เกรงว่าในอนาคตต่อไประวัติศาสตร์ท้องถิ่นจะเพี้ยนไป หลังการทำป้ายใหม่ อยากให้เรียกชื่อตรงกับประวัติศาสตร์ จึงร่วมลงชือคัดค้านดังกล่าว”พระครูปัญญากล่าว
          ด้านนางรัชนี เทียบแก้ว เจ้าของโรงพิมพ์ใน อ.ศรีมโหสถ กล่าวว่า “เดิมตรงเนินดินโบราณนี้เรียกสืบต่อๆกันมาหลายชั่วคนแล้วว่า ภูเขาทอง ขุดพบพระพุทธรูปทองคำศักดิ์สิทธิ์ คือ พระนิรันตราย ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์มาแล้ว คนรุ่นต่อรุ่นมีความเชื่อเนินดินโบราณ หรือ ภูเขาทอง นี้ เป็นโบราณสถานสำคัญตั้งแต่สมัยทวารวดี มีโบราณวัตถุและ ความสำคัญทางพระพุทธศาสนา ผู้คนในท้องถิ่น เชื่อว่าเป็นที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นศูนย์กลางมาทำบุญในโอกาสต่าง ๆ อาทิ บุญกลางบ้าน ประเพณีสงกรานต์ โดยในปัจจุบันอยู่ในวัดหนองสะแก หมู่ 3 เวลาชาวบ้านไปปฏิบัติธรรม-ขอพรจะไปปฏิบัติธรรมล้อมรอบภูเขาทองกัน คนเฒ่าคนแก่ ผู้นำท้องถิ่นและชาวบ้านเห็นชื่อเปลี่ยนมาเป็นเชิงเทินสังเกตการณ์แล้วพากันเสียใจ ใม่เชื่อเป็นเนินดินธรรมดา หรือเชิงเทินจริงให้มีหลักฐานมาอ้างอิง
          ผู้สื่อข่าวได้ประสานมายังสำนักศิลปากรที่5ปราจีนบุรี ได้รับแจ้งว่า เรื่องทีมี การร้องเรียน โบราณสถาน หมายเลข 3 เปลี่ยนชื่อ เป็นเชิงเทินสังเกตการณ์ของเมือง ที่แต่เดิมชาวบ้านเรียกกันว่า ภูเขาทอง นั้น เรื่องร้องเรียนดังกล่าวยังมาไม่ถึงสำนักงานศิลปากรที่ 5 ปราจีนบุรี ในการเขียนป้ายดังกล่าวใช้ข้อมูลจากรายงาน ขุดเมืองศรีมโหสถ โดยที่ปรึกษากรมศืลปากรเขียน – แปลความ ในการสำรวจหลักฐานทางโบราณคดีของคูเมืองศรีมโหสถ – กำแพงเมืองพบทิศตะวันตก-ใต้ พบเนินดินสูงสุดสร้างโดยคน เจอโบราณวัตถุต่างๆ อาทิ พระพุทธรูปทองคำ หรือ พระนิรันตราย สันนิษฐาน คือจุดสังเกตการณ์หนึ่งในการเดินทางเชื่อมทางน้ำ ไม่ปฏิเสธเนินดิน หรือศาสนสถาน การเขียนป้าย จากหลักฐานประตูเมืองทิศตะวันออกและทิศใต้ การขุดคูเมืองเจอช่องทางขี้น-ลง ข้อมูลใช้หลักฐานเดิมเป็นข้อสันนิษฐานเดิม เวลาทำป้าย แต่ก็ไม่ลบล้างความเชื่อเก่า เป็นข้อสันนิษฐานในการให้ข้อมูลใหม่ พบประตูเมืองเป็นเชิงเทินสังเกตการณ์ ทั้งหมดเป็นการปรับปรุงและสันนิษฐาน จากสภาพแวดล้อม ประชาชนสามารถเปิดเผย ให้ข้อคิดเพิ่มได้ สำหรับรายละเอียดต่างๆนั้นต้องให้ทางผอ.สำนักกรมศิลปากรหรือทางอธิบดีฯ เป็นผู้ให้ข่าวผ่านสื่อมวลชนได้ต่อไป

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!