ศรีสะเกษ-ครู น.ร.เผาพริกเกลือหน้าศาลหลักเมืองค้าน พ.ร.บ.การศึกษา

ศรีสะเกษ-ครู น.ร.เผาพริกเกลือหน้าศาลหลักเมืองค้าน พ.ร.บ.การศึกษา

ภาพ / ข่าว ศิริเกษ หมายสุข

เรียกร้องให้ พรรคการเมือง ส.ส. สว. และประธานรัฐสภา ให้พัก ชะลอ หยุด ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฉบับนี้ไว้ก่อน เพื่อสร้างปรับแก้ใหม่ ให้สมบูรณ์สูงสุดส่งผลต่อระบบการศึกษาชาติต่อไป

              เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณหน้าศาลหลักเมืองศรีสะเกษ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ ได้มีกลุ่มสมาชิกชมรมครูประถมศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ นำโดย นายสุนทร กุมรีจิตร ประธานชมรมครูประถมศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ ได้นำคณะครู น.ร.จาก 4 เขตพื้นที่การศึกษาทั่วทั้ง จ.ศรีสะเกษ พร้อมใจกันแต่งชุดดำ แสดงออกเชิงสัญลักษณ์แทนครูทั้ง จ.ศรีสะเกษ พร้อมกับชูป้ายต่อต้านคัดค้านไม่เอา ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. ฉบับใหม่ ที่กำลังมีการพิจารณาอยู่ในขณะนี้ โดยมี นายวิทยา พันธุ์เพ็ง ที่ปรึกษาชมรมครูประถมศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ นายวิสัย เขตสกุล เลขาธิการสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย (ส.ค.ท.) คณะกรรมการบริหารชมรมฯ สมาคม ผู้แทนสมาชิก ครูและบุคลากรทางการศึกษา น.ร. ภายใน จ.ศรีสะเกษ จำนวนมาก พากันนำเอาพริก เกลือ มาทำการตั้งเตาไฟเผาพริก เกลือ เพื่อขออำนาจความศักดิ์สิทธิ์ของศาลหลักเมืองศรีสะเกษ โปรดดลจิตดลใจให้ผู้มีอำนาจให้พักและชะลอการนำเข้าร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ..ไม่ให้เข้าไปประชุมพิจารณาในสภาผู้แทนราษรฏร โดยตามกำหนดการจะมีการนำร่าง พ.ร.บ.ดังวกล่าวนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฏรในวันพรุ่งนี้ (18 ก.พ.66)
               นายสุนทร กุมรีจิตร ประธานชมรมครูประถมศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า จากการที่รัฐสภามีการนำเข้าและพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ…(ฉบับผ่านการพิจารณาของกรรมาธิการวิสามัญฯ) เริ่มพิจารณามาตรตราแรกเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2566 เป็นต้นมา ชมรมครูประถมศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ สมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย (ส.ค.ท.) ได้ติดตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมาโดยตลอด และเห็นว่าร่างพ.ร.บ.การศึกษาฉบับนี้ ไม่ส่งผลต่อโอกาสทางการศึกษาที่จะพัฒนาประเทศ และไม่ส่งเสริมการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พ.ร.บ.ฉบับนี้จะสร้างความแตกแยก มากกว่าการสร้างความสามัคคีสงบสุข มั่นคงของคนในชาติ ดังสาระที่ปรากฏในมาตราต่างๆ ดังนี้
               1.พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่ให้ครูเป็นวิชาชีพชั้นสูง และไม่ใช่วิชาชีพควบคุม ต่างจากพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 เพราะให้บุคคลธรรมดา คนทั่วไปใครก็จัดการศึกษาได้ ตามมาตรา 11, 13, และมาตรา 48 วรรค 2 2.ไม่ให้รัฐจัดการศึกษาภาคบังคับตามมาตรา 48 มาตรา 11 และมาตรา 110 ข้าราชการครูผู้จัดการศึกษา ทั้งผู้สอนและผู้บริหาร สถานศึกษาปฐมวัย ประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้นของรัฐ จะต้องถูกให้ออกจากราชการในไม่ช้าในที่สุด 3.เด็กนักเรียนบ้านนอกยากจนด้อยโอกาสขาดแคลนทั่วประเทศ หมื่นกว่าโรงเรียนต้องออกเดินทางไปเรียนโรงเรียนที่อยู่หมู่บ้านอื่นตามมาตรา 14(9) ยุบควบรวมโรงเรียน เด็กๆจะออกกลางคันไม่จบการศึกษาภาคบังคับเป็นจำนวนมาก
               นายสุนทร กุมรีจิตร ประธานชมรมครูประถมศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวต่อไปว่า 4.ไม่ส่งเสริมผู้เรียนสู่สัมมาชีพและพรสวรรค์ที่ตนถนัด บังคับให้เด็กๆเรียนเหมือนกัน เรียนอย่างเดียวกัน และเรียนเท่าๆ กันเพื่อให้เป็นคนมีคุณภาพเหมือนๆกัน ตามมาตรา 8 และมาตรา 58 เป็นต้น ซึ่งไม่สอดคล้องกับโลกยุค AI 5.พ.ร.บ.ฉบับนี้เปิดช่องทางให้มีการบ่อนเซาะทำลายความมั่นคงของชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ ตามมาตรา 6, 11, 13, 14 และ 48 ซึ่งทหาร ตำรวจและข้าราชการคงยากจะรับมือไหวในอนาคตอีกไม่กี่ปีนี้ 6.ร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับนี้เป็นเผด็จการรวบอำนาจการบริหารเข้าสู่ส่วนกลางมากที่สุด มากกว่าพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ที่เคยใช้มา พวกตนชมรมครูประถมศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ สมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย (ส.ค.ท.) จึงขอแถลงเรียกร้องให้ พรรคการเมือง ส.ส. สว. และประธานรัฐสภา โปรดไตร่ตรองพัก ชะลอ หยุด ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฉบับนี้ไว้ก่อน เพื่อสร้าง/ปรับแก้ใหม่ ให้สมบูรณ์สูงสุดส่งผลต่อระบบการศึกษาชาติต่อไป

              นายวิทยา พันธุ์เพ็ง ที่ปรึกษาชมรมครูประถมศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า ความเป็นชาติ ศาสนาพระมหากษัตริย์เรายึดตัวนี้เป็นหลัก เมื่อยึดตัวนี้เป็นหลักเราก็จะต้องมองว่าสถาบันตรงนี้คงไว้ก็คือความเป็นข้าราชการ เรามองในตรงจุดหนึ่งว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นการหยุดยั้งข้าราชการ นั่นก็คือการที่จะทำให้เด็กคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น ที่เราทำโครงสร้างไว้มันไม่ชัดเจน เพราะฉะนั้นในกรณีที่ประธานชมรมครูประถมศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ ได้พูดข้อแตกต่างที่จะต้องแก้ไขเอาไว้ชัดเจนแล้ว ซึ่งเราได้ศึกษาเรื่องนี้ไว้นานแล้วตั้งแต่ปีพ.ศ. 2557 ตั้งแต่แนวทิศทางในการล้ม พ.ร.บ.เดิมและจะสร้าง พ.ร.บ.การศึกษาใหม่ขึ้นมา เพราะฉะนั้นเราศึกษาเรื่องนี้มาโดยตลอด ไม่ใช่ว่าอยู่ๆจะพวกเราจะคิดกันขึ้นมาเองในการที่จะพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้ดียิ่งขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ดังนั้น พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ……จึงยังไม่สมบูรณ์ในหลายมาตรา ควรที่จะชะลอพักไว้ก่อน เพื่อทำการแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาจากหลายภาคส่วนมาร่วมกันปรับปรุงแก้ไขให้ครบถ้วนสมบูรณ์ จากนั้นจึงจะนำเข้าในที่ประชุมพิจารณาของสภาผู้แทนราษฏรชุดใหม่ต่อไป

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!