นครสวรรค์-อบจ.ต้อนรับคณะศึกษาดูงานเทศบาลนครรังสิตฯ
ภาพ-ข่าว:ชาติชาย เกียรติพิริยะ
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 9 มีนาคม 2566 ณ ลานกาญจนาภิเษก โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย (จิรประวัติ) นครสวรรค์ พลตำรวจเอกสมศักดิ์ จันทะพิงค์ นายก อบจ.นครสวรรค์ พร้อมด้วยนายเชิดพันธุ์ มาศรี รองนายก อบจ.นครสวรรค์ สิบเอกพิทยา นาคกุญชร รองปลัด อบจ.นครสวรรค์ ดร.อร่าม วัฒนะ ผอ.กองการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม นายอภิรักษ์ อุ่นใจ ผอ.โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย (จิรประวัติ) นครสวรรค์ คณะครูและนักเรียน ร่วมให้การต้อนรับ คณะจากเทศบาลนครรังสิต จังหวัดปทุมธานี นำโดย นายสุทธพงศ์ บุราพันธ์ เลขานุการนายกเทศมนตรีนครรังสิต พร้อมคณะบุคลากรทางการศึกษา ในโอกาสเดินทางเข้าศึกษาดูงานโครงการส่งเสริมความเป็นเลิศ 5 หลักสูตร ของโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย (จิรประวัติ) นครสวรรค์
ภายในลานกาญจนาภิเษก มีการจัดกิจกรรม เปิดบ้านวิชาการชมพู-ฟ้า SKJ Open House 2023 ประจำปีการศึกษา 2565 เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ ความสำเร็จในการจัดการศึกษา ตามหลักสูตรส่งเสริมความเป็นเลิศของโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย (จิรประวัติ) นครสวรรค์ ตลอดจนการนำข้อมูลไปปรับใช้เพื่อหาแนวทางการพัฒนาที่ดียิ่งขึ้น โดยโรงเรียนสวนกุหลาบฯ ได้มีการนำเสนอโครงงานหนึ่งห้องเรียนหนึ่งโครงงาน One Classroom One Project (OCOP) จำนวน 24 โครงงาน รวมถึงการแสดงความสามารถพิเศษของนักเรียนชุมนุมต่างๆ และนิทรรศการ หลักสูตรส่งเสริมความเป็นเลิศ 5 หลักสูตร ประกอบด้วย
1. หลักสูตรส่งเสริมความเป็นเลิศทางด้านวิชาการ
2. หลักสูตรส่งเสริมความเป็นเลิศทางด้านภาษา
3. หลักสูตรส่งเสริมความเป็นเลิศทางด้านอาชีพ
4. หลักสูตรส่งเสริมความเป็นเลิศทางด้านดนตรี ศิลปะ การแสดง
5. หลักสูตรส่งเสริมความเป็นเลิศทางด้านกีฬา
นายก อบจ.นครสวรรค์ ได้กล่าวต้อนรับคณะศึกษาดูงาน พร้อมกล่าวว่า “การศึกษาดูงานในครั้งนี้ ขอให้ดูว่าเรายังมีจุดอ่อนอะไรบ้าง ที่จะต้องแก้ไข เนื่องจากยังมีข้อจำกัด ในเรื่องของการพัฒนาหลักสูตร ซึ่งในส่วนของโรงเรียนสวนกุหลาบฯ ได้มีการพัฒนาหลักสูตรทั้ง 24 Class ที่กำลังจะเปิด เราพยายามเติมสิ่งที่เป็นประโยชน์ เพื่อเป็นรากฐานกับอาชีพในอนาคต และอุตสาหกรรมที่จะเข้ามาในอนาคตที่เข้ามามีบทบาทในวิถีชีวิต และอาชีพที่มีการเปลี่ยนแปลงไป”
นายก อบจ.กล่าวต่ออีกว่า ฎหลายวิชาที่จะต้องลดความจำเป็นลงไป และอีกหลายวิชาที่เกิดขึ้นใหม่ ที่เราจะต้องเรียนรู้ แต่ยังคงติดขัดในเรื่องของข้อจำกัด และระบบต่างๆ จึงทำให้การพัฒนาหลักสูตรด้วยตนเองนั้นทำได้ยาก พร้อมฝากให้ทางคณะการศึกษาดูงาน ได้นำจุดอ่อนไปเป็นบทเรียนในการแก้ไข ส่วนด้านจุดที่ดีๆ ก็คือสิ่งที่เหมาะกับเด็กของโรงเรียนสวนกุหลาบฯ เนื่องจากแต่ละโรงเรียนจะมีพื้นฐานที่ต่างกันทั้งภาวะเศรษฐกิจและความรู้ที่แตกต่างกัน แต่เราพยายามที่จะทำให้ดีที่สุดสำหรับเด็กเรา”