อยุธยา-“Durian and Eastern Fruits Fest”(เทศกาลทุเรียนและผลไม้ภาคตะวันออก)
ภาพ-ข่าว นราเอก ตันศิริ / นพดล บำเพ็ญสัตย์
สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยองจัดโครงการจัดงานส่งเสริมการบริโภคสินค้าไม้ผลอัตลักษณ์คุณภาพดีข้ามถิ่นนอกแหล่งผลิต งาน Durian and Eastern Fruits Fest (เทศกาลทุเรียนและผลไม้ภาคตะวันออก)
เมื่อเวลา 18.00 น.วันที่ 19 พฤษภาคม 2566 ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลอยุธยา อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นางอุบล มากอง ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง ได้กล่าวรายงานในพิธีเปิดงาน งาน Durian and Eastern Fruits Fest (เทศกาลทุเรียนและผลไม้ภาคตะวันออก) โครงการจัดงานส่งเสริมการบริโภคสินค้าไม้ผลอัตลักษณ์คุณภาพดีข้ามถิ่นนอกแหล่งผลิตโดยมี นายกฤษ อุตตมะเวทิน รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นประธานในพิธีเปิดงาน
นางอุบล มากอง ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้มอบหมายให้ สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยองดำเนินโครงการส่งเสริมและพัฒนาสินค้าอัตลักษณ์พื้นถิ่น สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3จังหวัดระยอง จึงได้จัดงาน Durian and Eastern Fruits Fest (เทศกาลทุเรียนและผลไม้ภาคตะวันออก) ระหว่างวันที่ 18 – 21 พฤษภาคม 2566 ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลอยุธยา อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยาในครั้งนี้ เพื่อส่งเสริมทุเรียนและผลไม้คุณภาพดีภาคตะวันออกเป็นที่ประจักษ์และสร้างความเชื่อมั่นความเป็นผลไม้คุณภาพดีให้กับผู้บริโภคในการขยายตลาดภายในประเทศให้มากขึ้น เพื่อประชาสัมพันธ์ความหลากหลายของสายพันธุ์ทุเรียนคุณภาพดี และผลไม้เอกลักษณ์พิเศษเฉพาะถิ่นภาคตะวันออกในการสร้างโอกาสทางการตลาดให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ด้านการตลาดและขยายตลาดของสินค้าวิสาหกิจชุมชนและแม่บ้านเกษตรกรภาคตะวันออกให้ถึงกลุ่มผู้บริโภคได้อย่างทั่วถึง
ซึ่งการจัดงานครั้งนี้ ฯ เป็นความร่วมมือระหว่างกรมส่งเสริมการเกษตรและศูนย์การค้า เซ็นทรัลอยุธยา ที่ได้เล็งเห็นความสำคัญของผลไม้ไทย โดยเฉพาะไม้ผลอัตลักษณ์ภาคตะวันออก เช่น ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง มะม่วง และอื่น ๆ ให้เป็นที่ประจักษ์มากยิ่งขึ้น โดยเน้นที่ความเป็นผลไม้และสินค้าคุณภาพ ประกอบด้วยการจำหน่ายผลไม้สด และผลไม้แปรรูป สินค้าเกษตรแปรรูปจากเกษตรกรชาวสวนผลไม้ และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนจาก 9 จังหวัด ภาคตะวันออก การส่งเสริมการจำหน่าย ได้แก่ การสาธิตการทำอาหารจากผลไม้ กิจกรรมนาทีทอง“ชาวสวนมีน้ำใจ จ่ายให้คนละครึ่ง” การจัดแสดงนิทรรศการให้ความรู้เรื่อง นิทรรศการ Durian Lover คนรักทุเรียนต้องรู้ ขั้นตอนการตรวจวัดเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียน/วิธีการเลือกซื้อทุเรียนให้ได้คุณภาพ กิจกรรมการแสดงดนตรีตลอดช่วงระหว่างการจัดงาน กิจกรรมให้ความรู้สาธิต 3 รายการ เช่น การดูทุเรียนแก่ การเก็บรักษาทุเรียนอย่างไรให้กินอร่อย การแกะทุเรียนให้สวยด้วยมือเราผู้จำหน่ายในงานประกอบด้วย ผู้แทนสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทยภาคตะวันออก เกษตรกร และ เกษตรกรแปลงใหญ่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนและกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรจาก 9 จังหวัดภาคตะวันออก
ทางด้าน นายกฤษ อุตตมะเวทิน รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรกล่าวว่าผลไม้ เป็นสินค้าที่สำคัญทางเศรษฐกิจชนิดหนึ่งของประเทศไทย ซึ่งประเทศ ไทยเราเป็นผู้นำด้าน การผลิตและการส่งออกผลไม้เมืองร้อนที่สำคัญและมีชื่อเสียงที่สุดในภูมิภาคอาเซียน มีมูลค่าการส่งออกเป็นอันดับหนึ่งในภูมิภาคอาเซียน ผลไม้ที่สำคัญได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ ลำไย มะม่วง สับปะรด ลองกอง กล้วยไข่ และขนุน เป็นต้น แหล่งผลิตผลไม้ที่สำคัญได้แก่ ภาคตะวันออก ภาคใต้ และภาคเหนือ โดยที่ปัจจุบันกระแสการบริโภคผลไม้ไทยโดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนและเด็กรุ่นใหม่ลดลงจากผลไม้ต่างประเทศมาเป็นทางเลือกมากขึ้นและสามารถซื้อหาได้ง่ายในราคาที่พึงพอใจ
ดังนั้น การส่งเสริม การบริโภคผลไม้ภายในประเทศจึงเป็นสิ่งควรดำเนินการอย่างจริงจัง การสร้างมูลค่าผลไม้ที่มีมากกว่า การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ คือ การจำหน่ายตรงกับผู้บริโภคไม่ว่าจะเป็นแบบออนไลน์ ออฟไลน์ การจำหน่ายในรูปแบบของท่องที่ยวเชิงเกษตร และการจัดงานประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการบริโภคผลไม้ ที่เกษตรกรเป็นผู้นำผลไม้หรือสินค้าเกษตรมาจำหน่ายด้วยตนเอง ซึ่งเป็นที่ยอมรับในเรื่องคุณภาพ ดังนั้น การสร้างหรือพัฒนาเกษตรกรให้มีความรอบรู้เชิงธุรกิจ หรือฝึกให้เกษตรกร มาเป็นผู้จำหน่าย จึงเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้นเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงด้านการตลาด ในอนาคต หรือแม้กระทั่งการพัฒนาในการสร้างแรงจูงใจให้ทายาทเกษตรกร และ YFS เข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้น ซึ่งการจัดงานครั้งนี้ ถือว่าเป็นการตอกย้ำและต่อยอดการเสนอความเป็นคุณภาพของสินค้าเกษตร ที่เป็นผลไม้อัตลักษณ์ประจำถิ่นของภาคตะวันออกให้เป็นที่เชื่อมั่นของผู้บริโภค นอกจากนี้ ยังเป็นการอุดหนุนสินค้าเกษตรเป็นการช่วยผลักดันและส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดความเข้มแข็งและเติบโตของเกษตรกรอย่างยั่งยืนต่อไป