ศรีสะเกษ-ปภ.ระดมผู้นำชุมชน บูรณาการแนวคิดป้องกันภัยแล้ง น้ำท่วมซ้ำซาก
ภาพ-ข่าว ศิริเกษ หมายสุข
เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่องค์การบริหารส่วนตำบลโสน อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ นายนพ พงศ์ผลาดิสัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ได้้เดินทางไปเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ จัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติ อุทกภัย ภัยแล้ง โดยอาศัยชุมชนเป็นฐาน( CBDRM Plus F ) ซึ่ง สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดศรีสะเกษ จัดขึ้น เพื่อเป็นการเสริมสร้างศักยภาพชุมชน ร่วมระดมบูรณาการความคิด ในการบริหารจัดการ เพื่อแก้ไขอุทกภัย และภัยแล้ง ในพื้นที่ ตำบลโสน อำเภอขุขันธ์ ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงและประสบภัยแล้ง และอุทกภัย ในช่วงที่ผ่านมา โดยมี นายวัจนปกรณ์ พงษ์พานิช ผู้ช่วยหัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์การจัดโครงการ พร้อมด้วยนางสาวทิพวรรณ ปัญญาคม หัวหน้าฝ่ายป้องกันและปฏิบัติการ ตลอดจน ผู้นำชุมชน ในพื้นที่ ตำบลโสน อำเภอขุขันธ์ จำนวน 60 คน เข้าร่วมโครงการฯ
นายวัจนปกรณ์ พงษ์พานิช ผู้ช่วยหัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า การเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศ ได้ส่งผลให้เกิดภัยพิบัติที่มีความรุนแรงและความถี่มากขึ้น เช่น ฝนตกหนัก น้ำท่วม หรือความแห้งแล้ง ที่สร้างความเสียหายต่อความเป็นอยู่ของมนุษย์ ซึ่งส่งผลให้ชุมชนไทย ต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่แตกต่างไปจากเดิม ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของคนในชุมชนในการเผชิญหน้ากับความเสี่ยงมากขึ้นไม่ว่าเป็นอุทกภัยและภัยแล้ง ดังนั้นชุมชนจึงต้องมีการปรับตัวและเตรียมความพร้อมในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น มีการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบเพื่อป้องกันและลดผลกระทบหรือความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากอุทกภัยหรือภัยแล้ง
นายนพ พงศ์ผลาดิสัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า จังหวัดศรีสะเกษ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการบริหารจัดการสาธารณภัย โดยให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้เข้ามามีส่วนร่วม จึงได้นำหลักการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติโดยอาศัยชุมชนเป็นฐาน มาใช้เป็นแนวทาง ในการดำเนินการ เพื่อให้ชุมชนมีส่วนร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมทำ และแก้ไขปัญหาตามศักยภาพความพร้อมของตนเอง จึงมุ่งเพิ่มศักยภาพให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อน โดยมีการบริหารจัดการน้ำสำหรับชุมชน เช่น โคก หนองนา โมเดล หรือการออกแบบผังน้ำชุมชน โดยใช้ทรัพยากรในชุมชน และสอดคล้องกับภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยมีภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนการดำเนินการ เพื่อให้ชุมชนเข้มแข็ง มีความพร้อมในการรับมือสถานการณ์ภัย มีความปลอดภัยยั่งยืนต่อไป