สระบุรี-ดอนพุดจัดแข่งขันเชฟกระทะเหล็ก รังสรรค์วัตถุดิบประจำถิ่นของอำเภอดอนพุด
สระบุรี-ดอนพุดจัดแข่งขันเชฟกระทะเหล็ก รังสรรค์วัตถุดิบประจำถิ่นของอำเภอดอนพุด
ภาพ/ข่าว:สมภพ พิมมะศร
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 66 ที่บริเวณหอประชุมอำเภอดอนพุด จ.สระบุรี ได้จัดให้มีการแข่งขันทำอาหาร โดยมีโจทย์ในการแข่งขัน คือการนำวัตถุดิบ ทั้งผักโมโรเฮยะ เห็ดมิวกี้ เห็ดยามาบูชิตาเกะ และวัตถุดิบประจำถิ่นของอำเภอดอนพุด นำมาประสมอาหารคาว และอาหารหวาน เพื่อรังสรรค์เมนูใหม่ สร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวในการประกอบอาหารโดยการประยุกต์อาหารภายใต้ความคิดสร้างสรรค์ในรูปแบบ FINE DINING อาหารที่สัมผัสด้วยมือ เห็นด้วยตา รับรสด้วยลิ้น ได้ยินด้วยหู รู้สึกด้วยใจ มีทีมเข้าร่วมแข่งขัน จากหมู่บ้านทั้งหมดของอำเภอดอนพุด 28 หมู่บ้าน 28 ทีม ทีมละ 5 คน เพื่อค้นหาแนวคิดสร้างสรรค์สำหรับเมนูอาหาร เพื่อนำไปต่อยอดและสร้างคอร์สสำหรับ fine dining ในร้านอาหารของอำเภอดอนพุด
พื้นที่ของอำเภอดอนพุด มีสภาพเป็นที่ราบลุ่ม ประกอบกับพื้นที่ส่วนใหญ่ของอำเภอดอนพุดจะทำนา คิดเป็น 92 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่ทั้งหมด ซึ่งประสบปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ไม่เพียงพอต่อพื้นที่การเกษตรเป็นประจำทุกปี จึงได้มีการแนวคิดแก้ปัญหา ส่งเสริมให้ประชาชนทำการเกษตรมูลค่าสูง โดยการปลูกผักโมโรเฮยะ เห็ดมิวกี้ เห็ดยามาบูชิตาเกะ และข้าวเจ๊กเชยเสาไห้ โดยมีบริษัท ดอนพุด เอนเทอไพรซ์ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด เป็นผู้รับซื้อสินค้าทางการเกษตรทั้งหมด โดยบริษัทดังกล่าว จะทำให้คนในชุมชนสามารถเป็นเจ้าของร่วมกัน อีกทั้งยังคืนกำไรสู่สังคมในการดำเนินกิจกรรมสาธารณะประโยชน์ ช่วยเหลือ พัฒนา และต่อยอด
ต่อมาวันที่ 1 มิถุนายน 2566 ที่หอประชุมอำเภอดอนพุด จ.สระบุรี ได้มีการประชุมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ประจำเดือนของอำเภอดอนพุด ก่อนเริ่มการประชุม นายพัชรพัชร์ ศรีธัญญนนท์ นายอำเภอดอนพุด ได้มอบรางวัลให้แก่ทีมที่ชนะเลิศในการแข่งขันเขพกระทะเหล็ก บียอน ดอนพุด ทั้งอาหารคาว และของหวาน โดยนายพัชรพัชร์ ศรีธัญญนนท์ นายอำเภอดอนพุด กล่าวว่า การแข่งขันเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ทางคณะกรรมรู้สึกหนักใจ ทั้ง 28 เมนูคาว และ 28 เมนูหวาน ซึ่งหลังจากมีการคุยกันแบบจริงจัง จึงต้องขยายให้มีรางวัลเพิ่มเติมมากขึ้น เพราะว่าชาวบ้านและเชฟจากทุกหมู่บ้าน ได้มาร่วมทำอาหารและก็มีความคิดสร้างสรรค์ที่ดีมาก ซึ่งเราไม่สามารถที่จะเลือกมอบรางวัลให้แค่ทีมใดทีมหนึ่ง
สำหรับเมนูอาหารคาว หมู่บ้านที่ชนะเลิศอันดับ1 ได้แก่ทีม ม1 ต.บ้านหลวง เมนูหลานช่อนนอนทุ่งหลวง ชนะเลิศอันดับ2 ได้แก่ทีม ม.4 ต.ดงตะงาว เมนูห่อหมกในกระบอก ชนะเลิศอันดับ3 มี 2 ทีม ได้แก่ ม.5 ต.ไผ่หลื่ว เมนูไข่ตุ๋นต้มยำ และ ม.3 ต.ไผ่หลิ่ว เมนูน้ำพริกอ่องเห็ดสามเกลอสปาเกตตี้
สำหรับเมนูอาหารหวาน หมู่บ้านที่ชนะเลิศอันดับ1 ได้แก่ทีม ม.3 ต.ไผ่หลิ่ว เมนู Creamy mushroom sauce ชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ทีม ม.7 ต.ดงตะงาว เมนูคุ๊กกี้โมโรเฮยะ ชนะเลิศอันดับ3 มี 2 ทีม ได้แก่ ม.5 ต.ไผ่หลื่ว เมนูน้ำเต้าหู้โมโรเฮยะใบเตย และ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านอ้อมแก้ว เมนูโมโรเฮยะปากกระบอก ซึ่งเมนูอาหารทั้งหมด เตรียมนำไปพัฒนา เพื่อต่อยอดและสร้างคอร์สสำหรับ fine dining ในร้านอาหารของอำเภอดอนพุด ซึ่งอยู่ในระหว่างดำเนินการในชื่อ ร้านพยัญชนะ ต่อมาได้เริ่มทำการประชุม โดยให้นโยบายต่างๆกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้านต่อไป