อุบลราชธานี-ม.อุบลฯ อบรม IoT และการประยุกต์ใช้งานด้านการเกษตร พัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21

อุบลราชธานี-ม.อุบลฯ อบรม IoT และการประยุกต์ใช้งานด้านการเกษตร พัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21

ภาพ-ข่าว:ศูนย์ข่าวเฉพาะกิจจังหวัดอุบลราชธานี

           เมื่อวันอาทิตย์ที่ 11 มิถุนายน 2566 มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดย คณะวิทยาศาสตร์ จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ กิจกรรมที่ 11 “เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Thing : IoT) และการประยุกต์ใช้งานด้านการเกษตรสำหรับวัยทำงาน/เกษตรกร” ภายใต้โครงการ “การพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 สำหรับคนทุกช่วงชีวิต” ประจำปีงบประมาณ 2566 โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชัชวิน นามมั่น หัวหน้าสำนักงานเลขานุการ คณะวิทยาศาสตร์ และหัวหน้ากิจกรรมที่ 11 พร้อมด้วย ดร.สมปอง เวฬุวนาธร ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและวิชาชีพ เป็นวิทยากร เพื่อพัฒนาบุคลากรวัยทำงานที่มีความสนใจด้านการเกษตร ให้มีความรู้ทางด้านเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตของสรรพสิ่งและเทคโนโลยีดิจิทัล สร้างระบบตรวจสอบและติดตามสถานการณ์เพาะปลูก ระบบคาดการณ์ผลผลิต การลดความเสียหายจากโรคระบาดที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ยังจะสามารถจัดทำรายงานภาพรวมในการผลิตรายแปลง เพื่อนำไปใช้ในการตรวจสอบย้อนกลับการผลิตได้อีกด้วย ณ อาคารต้นแบบถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพลังงาน คณะวิทยาศาสตร์
            ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชัชวิน นามมั่น หัวหน้าสำนักงานเลขานุการ คณะวิทยาศาสตร์ และหัวหน้ากิจกรรมที่ 11 กล่าวว่า มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จัดการอบรมกิจกรรมที่ 11 “เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Thing : IoT) และการประยุกต์ใช้งานด้านการเกษตรสำหรับวัยทำงาน/เกษตรกร” สนับสนุนการยุทธศาสตร์แห่งชาติ การเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพมนุษย์ที่มีผลต่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการประยุกต์ใช้ ICT ด้านการแข่งขันภายในประเทศ และด้านความสามารถทางนวัตกรรม รวมทั้งกิจกรรมเพื่อพัฒนาทักษะทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และดิจิทัล เพื่อบ่มเพาะการเป็นนักคิด และนักนวัตกร ทั้งนี้ ผู้เข้าอบรมจะได้รับความรู้ในการประดิษฐ์ชุดฝึกอบรมด้านเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตของสรรพสิ่งและการประยุกต์ใช้งานด้านการเกษตรสำหรับวัยทำงาน/เกษตรกร จำนวน 3 แบบ
              โดยในแต่ละชุดสามารถเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตผ่านเครือข่ายแบบไร้สาย ควบคุมอุปกรณ์ได้โดยผ่านแอพพลิเคชั่นที่แตกต่างกัน มีไมโครคอนโทรลเลอร์สำหรับการประมวลผล มีส่วนเชื่อมต่อเซ็นเซอร์ผ่านช่องแอนะล็อก ส่วนเชื่อมต่อเซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิและความชื้นและแสงผ่าน I2C และช่องเอาต์พุตรีเลย์ 10A จำนวนไม่ต่ำกว่า 4 ช่อง เพื่อควบคุมการทำงานของอุปกรณ์ อาทิเช่น ปั๊มน้ำ การเปิด-ปิดไฟ หรือโซลินอยด์วาล์ว ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการสร้างระบบตรวจสอบและติดตามสถานการณ์เพาะปลูกให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
             มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มีเป้าหมายในการนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ที่ผ่านการจัดการศึกษา ค้นคว้าวิจัย และบริการวิชาการ สอดคล้องกับ นโยบายและยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2566 – 2570 การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรมระดับแนวหน้าที่ก้าวหน้าล้ำยุค เพื่อสร้างโอกาสใหม่และความพร้อมของประเทศในอนาคต และพันธกิจมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ด้านการสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมที่สามารถประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับสังคมทั้งระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ
               นอกจากนี้ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ยังกำหนดจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตร“การใช้ ICT ในการทำธุรกิจออนไลน์สำหรับผู้สูงอายุ” รุ่นที่ 1 ในวันอาทิตย์ที่ 2 กรกฎาคม 2566 และรุ่นที่ 2 วันอาทิตย์ที่ 23 กรกฎาคม 2566 ขอเชิญผู้ที่สนใจสมัครร่วมการอบรมรับจำนวนจำกัด สอบถามรายละเอียดได้ที่ นางสาวมลฤดี กาญจนวงษ์ โทรศัพท์ 09 4174 7914

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!