ชัยนาท-เตรียมจัดใหญ่ “สราญรมย์ชมวิถีลุ่มเจ้าพระยา – ป่าสัก @ชัยนาท”
ภาพ-ข่าว:ธนพนธ์ แสงทอง
วันนี้ 20 มิ.ย. 66 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณวิสาหกิจชุมชนสวนยางกลางนา ต.นางลือ อ.เมือง จ.ชัยนาท นายนที มนตริวัต ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท พร้อมด้วย นางฉลอม สงล่า ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดชัยนาท (ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลุ่มภาคกลางตอนบน และประธานเขตพื้นที่สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย) พ.ต.อ.นรากร บุญครอบ รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดชัยนาท และ นางสาวบุนรดา ปัญญารักษ์ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ รักษาราชการแทนท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดชัยนาท ร่วมแถลงข่าวการจัดงาน “สราญรมย์ชมวิถีลุ่มเจ้าพระยา – ป่าสัก @ชัยนาท”
สำหรับการจัดงานในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งภาคประชาสังคม กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ชุมชน (OTOP) ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมและบริการท่องเที่ยวของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบนร่วมกันจัดขึ้น โดยกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 5 – 9 กรกฎาคม 2566 ณ เขื่อนเรียงหินหน้าศาลากลางจังหวัดชัยนาท
โดยกิจกรรมภายในงานสราญรมย์ชมวิถีลุ่มเจ้าพระยา – ป่าสัก @ชัยนาท ในครั้งนี้ ได้มีการ จัดแสดงนิทรรศการการจัดงาน สราญรมย์ชมวิถีลุ่มเจ้าพระยา-ป่าสัก @ชัยนาท การจัดแสดงศิลปวัฒนธรรมที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของ 6 จังหวัด การแสดงน้ำพุประกอบเสียงเพลงและม่านน้ำ มินิคอนเสิร์ตศิลปินชื่อดัง กิจกรรมล่องเรือชมวิถีชีวิตสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา การจัดกิจกรรมแสดงและจำหน่ายสินค้าประเภทอาหารและผลิตภัณฑ์ชุมชน (OTOP) กว่า 120 ร้านค้า จาก 6 จังหวัดภาคกลางตอนบน คือ ชัยนาท พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พลาดไม่ได้กับกิจกรรม “สราญรมย์ชมวิถีลุ่มเจ้าพระยา – ป่าสัก @ชัยนาท” ระหว่างวันที่แต่วันที่ 5 – 9 กรกฎาคม 2566 เวลา 11.00 น – 21.00 น. ณ เขื่อนเรียงหินหน้าศาลากลางจังหวัดชัยนาท
ด้าน นายนที มนตริวัต ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท กล่าวว่าถึงที่มาและภาพรวมของการจัดงานในครั้งนี้ เพื่อตอบสนองนโยบายด้านการท่องเที่ยวของรัฐบาล สร้างสรรค์กิจกรรมการท่องเที่ยวที่อนุรักษ์วิถีชีวิตลุ่มเจ้าพระยา-ป่าสัก ซึ่งเป็นวิถีชีวิตของกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบนให้คงอยู่สืบไป กระตุ้นเศรษฐกิจและส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวทุกกลุ่มเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น อีกทั้ง เพื่อพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการสู่ตลาดสากลเพื่อส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ชุมชนสินค้าภาคการเกษตรและสินค้าภาคอุตสาหกรรมของจังหวัด ในการนำผลิตภัณฑ์ของตนเข้าสู่ตลาดดิจิตอลและเพิ่มช่องทางการตลาดของสินค้าผลิตภัณฑ์กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบนทั้งในและต่างประเทศ