ร้อยเอ็ด-ผู้ว่าฯ บรรยายถวายความรู้คณะสงฆ์ เน้นย้ำสานพลัง “บวร” มุ่งบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้แก่ประชาชน
ภาพ-ข่าว:คมกฤช พวงศรีเคน
วันที่ 4 กรกฎาคม 2566 เวลา 09.00 น. ณ วิทยาลัยสงฆ์ร้อยเอ็ด มจร. ตำบลนิเวศน์ อำเภอธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวถวายการต้อนรับพระเดชพระคุณพระพรหมวัชรเมธี เจ้าคณะภาค 9 ในโอกาสเมตตาเป็นประธานเปิดการประชุมพระสังฆาธิการ ระดับเจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส และผู้ช่วยเจ้าอาวาสในเขตปกครองคณะสงฆ์จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งการจัดประชุมเป็นไปตามมติมหาเถรสมาคมที่ 143/2546
โดยกำหนดให้เจ้าคณะภาคร่วมกับเจ้าคณะจังหวัดจัดประชุมเจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส ผู้ช่วยเจ้าอาวาส ปีละ 1 ครั้ง ครั้งละ 1 วัน เพื่อให้พระสังฆาธิการได้รับทราบนโยบาย และแนวทางการบริหารงานของคณะสงฆ์ รับทราบองค์ความรู้ใหม่เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติหน้าที่ แลกเปลี่ยนความรู้ และส่งเสริมความสามัคคีของพระสังฆาธิการ สามารถนำไปใช้ ในการปฎิบัติหน้าที่ของตนได้อย่างสมบูรณ์และถูกต้อง โดยมีพระเทพปริยัติเวที, พระอุดมปรีชาญาณ รองเจ้าคณะภาค 9 พระราชพรหมจริยคุณ เจ้าคณะจังหวัดร้อยเอ็ด ผู้บริหารวิทยาลัยสงฆ์ร้อยเอ็ด มจร. พร้อมด้วยนายพิชัยยา ตุระซอง หัวหน้าสำนักงานจังหวัดร้อยเอ็ด นายประยูร จรเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดร้อยเอ็ด หัวหน้าส่วนราชการ และผู้แทนนายอำเภอธวัชบุรี ร่วมในพิธี
นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด ได้เป็นวิทยากรถวายความรู้แด่พระสังฆาธิการ และคณะสงฆ์จังหวัดร้อยเอ็ด ในหัวข้อเรื่อง การบูรณาการการทำงานร่วมกัน ระหว่างกระทรวงมหาดไทย และภาคีเครือข่ายด้านศาสนา และการขับเคลื่อนค่านิยม 11 ประการ ของชาวร้อยเอ็ด โดยผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า จังหวัดร้อยเอ็ด ได้มีการดำเนินงานตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) บทบาทในการเกื้อหนุนระหว่างวัดและชุมชนให้มีความสุขอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นการบูรณาการความร่วมมือกันระหว่างวัด ชุมชน และส่วนราชการ เพื่อให้เกิดความรักความสามัคคี และเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชน ผ่านการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข และ”สร้างสรรค์ให้ร้อยเอ็ดเป็นเมืองแห่งความสุข
ด้วยความร่วมมือกันระหว่างราชการและภาคีเครือข่ายภาคศาสนา” ด้วยการนำเอาบทบาทของวัดในฐานะที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านในพื้นที่มาเป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อนภารกิจเพื่อช่วยเหลือประชาชน โดยให้เลือกวัดที่มีศักยภาพในชุมชน พร้อมด้วยส่วนราชการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นหน่วยดำเนินงาน สำหรับการดำเนินงานในปี พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมานั้น ได้มีการใช้ข้อมูลจากระบบ TPMAP และ ThaiQM เพื่อเป็นข้อมูลและกำหนดเป็นกลุ่มเป้าหมายในการให้ความช่วยเหลือ และมีการประสานวัดในพื้นที่ที่มีศักยภาพเพื่อร่วมกันช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายแลดำเนินการแก้ไขปัญหาความยากจนตามมิติด้านต่างๆ
พร้อมนี้ ได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้นำชุมชนให้ความสำคัญในการดำเนินงานดังกล่าว ภายใต้หลัก “บวร” (บ้าน วัด ราชการ) เพื่อเป็นการประสานพลังความร่วมมือ และสนับสนุนบทบาทหน้าที่ในการที่จะอนุเคราะห์ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทั้งในส่วนของวิชาการการพัฒนา การส่งเสริมสนับสนุนและการขับเคลื่อนการดำเนินการของคณะสงฆ์กับผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ ขยายผลไปสู่ผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น และประชาชน โดยมีภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสิ้น 7 ฝ่าย ประกอบด้วย ภาคศาสนา ภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และภาคสื่อมวลชน เพื่อให้บรรลุผลตามเป้าหมายที่กำหนดไว้อย่างยั่งยืน