ศรีสะเกษ-อดีต กก.สภาการศึกษาจวกแหลกสอบบรรจุครูข้อสอบไร้มาตรฐาน
ภาพ-ข่าว:ศิริเกษ หมายสุข
บัณฑิตสอบได้เพียง 2 เปอร์เซ็นต์ แม้แต่บัณฑิตที่จบจากสถาบันที่ออกข้อสอบเองก็ยังสอบไม่ผ่าน เผยข้อสอบที่ดีต้องรับใช้วัตถุประสงค์ในการสอบ
เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ในสื่อออนไลน์กำลังพากันวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการสอบคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุแต่งตั้งเป็นข้าราชการครูในเขตพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ และ จ.อุบลราชธานี ทั้งนี้เนื่องจากว่า บัณฑิตที่มาสมัครสอบเข้ารับราชการครูนั้น สอบผ่านได้จำนวนน้อยมากประมาณ 2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ทั้งที่มีตำแหน่งครูที่จะบรรจุแต่งตั้งจำนวนมาก เช่น สพป.ศรีสะเกษ เขต 1 มีบัณฑิตมาสมัครสอบจำนวนทั้งสิ้น 1,651 คน สอบได้เพียง 2.54 เปอร์เซ็นต์ สพป.ศรีสะเกษ เขต 3 สมัครสอบ 1,018 คน สอบผ่าน 2.78 เปอร์เซ็นต์ สพป.อุบลราชธานี เขต 2 สมัครสอบ 1,360 คน สอบผ่านเพียง 2.35 เปอร์ซ็นต์ สพป.อุบลราชธานี เขต 5 ผู้สมัครสอบ 1,339 คน สอบผ่าน 3.28 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น โดยข้อสอบที่นำเอาไปใช้ในการสอบบรรจุแต่งตั้งนั้น เป็นข้อสอบที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี เป็นผู้ออกข้อสอบให้ ทำให้มีการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างกว้างขวางมาก
นายวิวัฒน์ รุ้งแก้ว อดีตกรรมการสภาการศึกษา กล่าวว่า การสอบคราวนี้ ตนเป็นคนนอกแต่ดูจากข่าวซึ่งเชื่อถือได้อย่างเป็นทางการ ผลการสอบคราวตนพูดถึงเฉพาะ จ.อุบลราชธานี กับ จ.ศรีสะเกษ ตนดูผลการสอบในมือของตนแล้ว สพป.อุบลราชธานี เขต 2 สมัครสอบ 1,360 คน สอบผ่านเพียง 2.35 เปอร์เซ็นต์ ของผู้สมัครสอบ คือถ้าผู้สมัครสอบ 100 คน สอบผ่าน 2 คน สพป.ศรีสะเกษ เขต 3 สมัครสอบ 1,018 คน สอบผ่าน 2.78 เปอร์เซ็นต์ ของผู้สมัครสอบ ก็แปลว่าผู้สมัครสอบ 100 คนสอบได้ปัดเศษเพิ่มขึ้นเป็นสามคน ทีนี้ไปดูว่าใครเป็นผู้เข้าสมัครสอบ สนามสอบ 2 จังหวัดนี้คือศรีสะเกษและอุบลราชธานี ตนเชื่อว่าส่วนใหญ่ผู้สอบคือผู้ที่เรียนจบจากมหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานีกับมหาวิทยาลัยราชภัฎศรีสะเกษ ซึ่งข้อมูลที่เป็นทางการ ผู้ออกข้อสอบที่ใช้สอบที่สนามสอบอุบลราชธานีและศรีสะเกษคือมหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานีเป็นผู้ออกข้อสอบ ก็แปลว่าผู้สอบจบจากสถาบันมหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี ผู้ออกข้อสอบคืออาจารย์ของมหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี เมื่อผลการสอบออกมาแบบนี้ ตนเห็นว่าเกิดจาก 2 อย่างด้วยกันคือ 1. ถ้าอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานีที่ออกข้อสอบได้ดีมีมาตรฐาน ก็แปลว่าบัณฑิตคณะครุศาสตร์ที่จบจากราชภัฎอุบลราชธานีที่จบมาต่ำกว่ามาตรฐานจนสอบบรรจุไม่ได้ 2. ถ้าหากราชภัฎอุบลราชธานีผลิตบัณฑิตออกมาคุณภาพดี มีคุณภาพก็แสดงว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานีผู้ออกข้อสอบ ที่ออกข้อสอบได้ไม่มีมาตรฐานคงไม่หนีไปจาก 2 อย่างนี้
นายวิวัฒน์ รุ้งแก้ว อดีตกรรมการสภาการศึกษา กล่าวต่อไปว่า ส่วนประเด็นต่อมาที่ตนอยากจะพูดก็คือผลกระทบที่ออกมาจากผลการสอบซึ่งออกมาแบบนี้ สิ่งที่ตนหวงมากที่สุดก็คือ ข้อ 1 คนทั่วไปจะดูถูกคนที่มาเรียนครูว่าเป็นคนที่ไม่เก่งมาเรียนครู ซึ่งความจริงไม่ใช่ ตนมีข้อมูลมาแสดงแต่เนื่องจากวันนี้เวลาน้อยจึงไม่สามารถนำเอามาแสดงได้ ตนไปเก็บข้อมูลย้อนหลังตอนเป็นกรรมการสภาการศึกษา 7 ปี ได้เห็นว่าคนที่มาเรียนครูนี้มีเด็กแต่นักเรียนเก่งทั้งนั้น คนที่สอบเข้าเรียนครูในระบบแอดมิชชั่นทุกคนจะได้คณะศึกษาศาสตร์ จะได้คะแนนสูงกว่าคนที่เรียนคณะอื่นที่เรียนในมหาวิทยาลัยเดียวกันวิชาเอกเดียวกัน นี่คือข้อมูลที่มีอยู่ เป็นหลักฐานว่า เราได้เด็กที่เรียนเก่งมาเรียนครู ข้อ 2 ตนเกรงว่าต่อไปนี้ เด็กเก่งจะไม่มาเรียนครูแล้วเพราะว่าเรียนครูจบมาแล้วจะสอบเข้ารับราชการไม่ได้ นี่คือความห่วงใย ส่วนประเด็นการออกข้อสอบนั้น ตนก็ได้เรียนครูมาด้วย โดยตนเคยเป็นลูกศิษย์ของศาสตราจารย์ ดร.ชวาล แพรัตกุล บิดาแห่งการวัดและประเมินผลการศึกษา ซึ่งถือว่าเป็นปรมาจารย์ในวิชาวัดผลท่านบอกว่า ข้อ 1 ข้อสอบที่ดีต้องมีอำนาจจำแนกคือแยกคนออกมาตั้งแต่คนได้คะแนน 100 คะแนน 90 ไล่จนมาถึงได้คะแนน 20 คะแนน 30 เรียงตาม ลำดับ ต้องจำแนกคนออกมาให้ได้ อันที่ 2 สำคัญมากก็คือท่านสอนว่า ข้อสอบที่ดีต้องรับใช้วัตถุประสงค์ในการสอบ วันนี้เราสอบบรรจุครูวัตถุประสงค์ของเราก็คือต้องการคัดเลือกคนมาเป็นครู แต่ไม่ใช่คัดเลือกจากเด็กทั่วไปที่เราคัดเลือกจากบัณฑิตที่เรียนวิชาครูหลักสูตร 5 ปี ซึ่งแต่ละคนมีความพร้อมที่จะเป็นครู ซึ่งแต่ละสถาบันการศึกษาเขาได้ผลิตออกมาตามมาตรฐาน ที่กำหนดไว้ตามตัวชี้วัดหลักสูตรหลักสูตรนี้ ไม่ใช่ว่าใครอยากเปิดก็เปิดได้ อันดับแรกจะต้องได้รับการอนุมัติหลักสูตรจากคณะกรรมการอุดมศึกษา แต่เฉพาะคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์นี้ต้องจะต้องได้รับอนุมัติหลักสูตรจากคุรุสภา
นายวิวัฒน์ รุ้งแก้ว กล่าวต่อไปว่า เมื่อคุรุสภาอนุมัติแล้วคุรุสภาจะต้อง มาดูว่าที่เสนอเข้าไปนั้นมีครบตามกิจกรรมและตัวชี้วัดครบหรือไม่ จะต้องเข้ามาดูแลทั้งหมดเพราะฉะนั้นบัณฑิตแต่ละคนกว่าที่จะได้ใบ ประกอบวิชาชีพมานั้น เค้าได้ผ่านมาหมดแล้ว ข้อสอบเพื่อต้องการที่จะบรรจุครูต้องการ 20 คนควรที่จะสอบให้ได้คนครบ ถ้าต้องการให้ได้ 100 คน ควรที่สอบให้ได้คนครบ ไม่ใช่ไปเอาข้อสอบแล้วมีคนสอบได้ไม่ครบแล้วต้องไปออกข้อสอบใหม่ การสอบที่ได้คนไม่ครบนั้นแปลว่าข้อสอบนี้ไม่รับใช้วัตถุประสงค์ในการสอบ ส่วนข้อสอบที่ออกมายาก ๆ และมีคนสอบได้เพียงแค่ 2% นั้น เป็นข้อสอบที่ยากมากจนจำแนกไม่ออก จะจำแนกออกได้เพียงไม่กี่คนที่อยู่ตรงหัวสูงสุด ส่วนที่เหลือมากองอยู่ข้างล่างหมด ขาดอำนาจจำแนก ท่านผู้ออกข้อสอบก็ลองไปพิจารณาว่า ที่ตนพูดถูกต้องหรือไม่
นายวิวัฒน์ รุ้งแก้ว อดีตกรรมการสภาการศึกษา ยังกล่าวด้วยว่า คราวหน้าขอฝากถึงผู้ที่จะใช้ครูเช่น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ถ้าไม่เชื่อคนของท่านให้ดำเนินการเอง ก็ให้ไปใช้คนอื่นมาออกข้อสอบให้ ต่อไปนี้ท่านก็ไม่ต้องมีข้าราชการในสำนักงานแล้ว ตนเชื่อว่าข้าราชการในสำนักงานของท่าน สามารถที่จะออกข้อสอบได้ดี และจำแนกบุคคลอื่นเพื่อเรียงลำดับในการบรรจุเข้ารับราชการครูและได้ผลตามที่ต้องการ ไม่จำเป็นจะต้องไปพึ่งพาอาศัยอาจารย์มหาวิทยาลัย ด็อกเตอร์ของท่านมีเยอะแยะ จนวันนี้จำไม่ได้ว่าใครเป็นด็อกเตอร์บ้าง สมัยก่อนในแต่ละหน่วยงานจะมี ด็อกเตอร์เพียง 1 – 2 คนเท่านั้นจำกันได้หมด ทุกวันนี้ด็อกเตอร์เดินชนกัน ท่านใช้คนของท่านได้ไม่จำเป็นต้องไปใช้คนของคนอื่นซึ่งท่านไม่มีอำนาจในการลงโทษบุคคลภายนอกแต่อย่างใด