ราชบุรี-สภากาชาดไทยฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูก(HPV) เข็ม 1 ให้กลุ่มผู้ลี้ภัยสวนผึ้ง
ภาพ-ข่าว:สุจินต์ นฤภัย ( เต้ )
สภากาชาดไทย โดยสำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานภาคีเครือข่าย ลงพื้นที่ปฏิบัติงานฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูก หรือ HPV เข็มที่ 1 ให้กับเด็กหญิงอายุต่ำกว่า 15 ปี ในพื้นที่พักพิงชั่วคราวสำหรับผู้หนีภัยการสู้รบจากเมียนมา บ้านถ้ำหิน อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี เพื่อลดความรุนแรงของการเจ็บป่วย และลดการเสียชีวิต เป็นการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ยากและส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ประชาชนและบุคคลกลุ่มเปราะบางด้อยโอกาส ซึ่งเป็นการดำเนินงาน ตามหลักมนุษยธรรม
วันที่ 11 ก.ค.66 นายกฤษฎา บุญราช ผู้ช่วยเลขาธิการสภากาชาดไทย พร้อมกับพลโท นพ.อำนาจ บาลี ผู้อำนวยการสำนักงานบรรเทาทุกข์ สภากาชาดไทย พร้อมคณะเจ้าหน้าที่ ลงพื้นที่ติดตามการปฏิบัติงาน ฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูก หรือ HPV เข็มที่ 1 ให้กับเด็กหญิง ในพื้นที่พักพิงชั่วคราวสำหรับผู้หนีภัยการสู้รบจากเมียนมา บ้านถ้ำหิน อำเภอสวนผึ้งจังหวัดราชบุรี มีนายรณภพ เหลืองไพโรจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี,นายกเหล่ากาชาด พร้อมทั้ง นางศรินทิพย์ ตีลาเทวากูล รองนายกเหล่ากาชาดจังหวัดราชบุรี ร่วมให้การต้อนรับ
การปฏิบัติงานลงพื้นที่ให้การฉีดวัคซีนในครั้งนี้ เป็นไปตามที่ สภากาชาดไทยได้รับบริจาควัคซีน HPV ชนิด 4 สายพันธุ์ จากบริษัท เอ็มเอสดี (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อสนับสนุนพันธกิจของสภากาชาดไทย ในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชนและบุคคลกลุ่มเปราะบาง ซึ่งเป็นการดำเนินงานตามหลักมนุษยธรรม โดยสภากาชาดไทยได้มอบหมายให้ สำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ นำวัคซีนมะเร็งปากมดลูกหรือ HPV ไปฉีดให้กับเด็กหญิงที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย แต่ยังไม่ได้รับสัญชาติไทย และกลุ่มที่อาศัยอยู่ในพื้นที่พักพิงชั่วคราว ฯ ทั่วประเทศ จำนวน 40,000 โดส หรือ 20,000 คน เพื่อลดการติดเชื้อ HPV ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดมะเร็งปากมดลูก และเพิ่มประสิทธิภาพ ในการป้องกันมะเร็งปากมดลูก ทั้งนี้มีกำหนดฉีดทั้งสิ้น2 เข็ม ห่างกัน 6 เดือน
สภากาชาดไทยโดยสำนักงานบรรเทาทุกข์ฯ ได้นำเอาเทคโนโลยีการจดจำใบหน้าด้วยระบบ Face Recognition และ Iis Recognition เข้ามาช่วยสนับสนุนทางการแพทย์ ในการบันทึกข้อมูลของผู้รับบริการฉีดวัคซีน และยืนยันตัวตน ในการเข้ารับวัคซีน รวมทั้งสามารถนำไปต่อยอดในการทำงานด้านมนุษยธรรม โดยเชื่อมโยงข้อมูลเข้ากับการบริการสาธารณสุขของไทย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรค ในกลุ่มประชากรข้ามชาติที่อยู่ในประเทศไทย ณ พื้นที่พักพิงชั่วคราวสำหรับผู้หนีภัยการสู้รบจากเมียนมา บ้านถ้ำหิน อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี