ประจวบคีรีขันธ์-เลขาฯป.ป.ช.ลงพื้นที่ตรวจสอบการขอออกโฉนดทับซ้อนในเขตอุทยานปราณบุรี พบมีชื่อ ส.ว.โผล่ 2 แปลง
ภาพ-ข่าว:เอกภพ วงษ์ประเสริฐ
ป.ป.ช.รับสืบสวนการขอออกโฉนดที่ดินในเขตวนอุทยานปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยขอออกในเนื้อที่รวม 23 ไร่เศษ มากกว่าหลักฐาน น.ส.3 ที่มีพื้นที่เพียง 3 ไร่เศษ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. พร้อมด้วย นายหิรัณย์เศรษฐ เหยี่ยวประยูร ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภาค 7 นางสาวจุฑารัตน์ เหลืองเพิ่มสกุล ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดประจวบฯ นายสมศักดิ์ กรีธาธร หัวหน้าวนอุทยานปราณบุรี นายสุทธิรักษ์ อุฒมนตรี บรรณาธิการบริหาร สำนักข่าวเนชั่น พร้อมคณะสื่อมวลชนจากส่วนกลาง และสื่อมวลชนพื้นที่จังหวัดประจวบฯ ร่วมลงพื้นที่ตรวจสอบการยื่นขอออกเอกสารสิทธิ์ทับซ้อนในเขตที่ดินของวนอุทยานปราณบุรี ต.ปากน้ำปราณ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบฯ โดยตรวจพบว่ามีชื่อส.ว.โผล่ขอยื่นออกเอกสารด้วย จำนวน 2 แปลง
โดยเรื่องดังกล่าว ได้มีการออกโฉนดที่ดินจากหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) รวมทั้งสิ้น 11 แปลง ผู้ถือกรรมสิทธิ์ ได้จดทะเบียนขายแก่ “ว”และต่อมา “ว” ได้ขายที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 6179 6180 6181 แก่ “พ” วันที่ 23 ธันวาคม 2554 ส่วนอีก 8 แปลง “ว” จดทะเบียนโอนชำระค่าหุ้นรวมแปดโฉนดแก่ บริษัท “ด” ซึ่งเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในปัจจุบัน
จากหลักฐานเดิม หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 45 เล่มที่ 18(1) หน้า 19 หมู่ที่ 1 ตำบลปากน้ำ อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2520 เนื้อที่ 19-3-79ไร่ ได้แบ่งแยกเป็น น.ส.3 เลขที่ 108/95 (ไม่ปรากฏว่ามีการนำไปออกโฉนดหรือไม่) และได้แบ่งแยกแล้วนำไปออกโฉนดที่ดิน อีก จำนวน 11 แปลง (รวม 12 แปลง ได้เนื้อที่รวม 23-0-46.5 ไร่ มากกว่าหลักฐาน หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 95 จำนวน 3-0-67.5 ไร่
การออกโฉนดที่ดินดังกล่าว มีการร้องเรียนว่าการออกโฉนดที่ดิน จำนวน 11 แปลง ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าคลองเก่า – ป่าคลองคอย สำนักงานที่ดินจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จึงได้เรียกคืนโฉนดที่ดินทั้งจำนวน 11 แปลง เพื่อพิจารณาดำเนินการเพิกถอน จึงมีการร้องทุกข์ไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาขอความเป็นธรรม คณะกรรมการกฤษฎีกา จึงให้กรมป่าไม้ตรวจสอบและพิจารณาแล้ว ได้มีหนังสือกรมป่าไม้ แจ้งเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าการออกโฉนดที่ดินและหนังสือรับรองการทำประโยชน์ต่อเนื่องจากใบเหยียบย่ำดังกล่าว อยู่นอกเขตป่าคุ้มครอง ซึ่งได้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกากำหนดป่าคลองเก่า ในท้องที่ตำบลปากคลอง อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ให้เป็นป่าคุ้มครอง พุทธศักราช 2484
โดยบริเวณที่ออกใบเหยียบย่ำ ไม่เป็นป่าหวงห้ามในขณะนั้น ต่อมาได้มีกฎกระทรวงฉบับที่ 222 (พ.ศ.2510) กำหนดป่าคลองเก่า- คลองคอย เป็นป่าสงวนแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 ที่ดินตามใบเหยียบย่ำดังกล่าวได้ถูกผนวกเข้าเป็นป่าสงวนแห่งชาติด้วย แต่ใบเหยียบย่ำได้ออกมาก่อน กฎกระทรวงฉบับที่ 222 (พ.ศ.2510) กำหนดป่าคลองเก่า – คลองคอย เป็นป่าสงวนแห่งชาติ ใบเหยียบย่ำ จึงออกมาโดยชอบด้วยกฎหมาย
กรมที่ดิน จึงได้มีหนังสือ ด่วนมาก ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2532 แจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ไม่ต้องดำเนินการเพิกถอนโฉนดที่ดินทั้ง 11 แปลง เมื่อปี พ.ศ.2533 นาย “ว” ได้ซื้อที่ดินทั้ง 11 แปลง และเมื่อปี พ.ศ.2547 “ว” ได้ยื่นคำขอออกโฉนดที่ดิน (ที่งอกชายทะเล) ทั้ง 11 แปลง
ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า เรื่องนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีคำสั่งให้ออกโฉนด เพียง 2 วันก่อนเกษียณอายุราชการนอกจากนี้มีประเด็นที่จะต้องพิจารณาต่อไปว่าผู้ที่ซื้อเอกสารสิทธิ์และขอออกโฉนดมีหนึ่งรายที่เป็นสมาชิกวุฒิสภา โดยป.ป.ช.จะตรวจสอบรายละเอียดเรื่องนี้อย่างละเอียดต่อไป