เพชรบุรี-ทส.ลุยตรวจ คลองอีแอด แหลมผักเบี้ย หลังชาวบ้านโอด ชำรุด ถูกทิ้งร้าง

เพชรบุรี-ทส.ลุยตรวจ คลองอีแอด แหลมผักเบี้ย หลังชาวบ้านโอด ชำรุด ถูกทิ้งร้าง

ภาพ-ข่าว:สุรพล นาคนคร

           “วราวุธ จี้ ยุทธพล” นำ รักษาการอธิบดีกรมทะเลและชายฝั่ง ลุยตรวจ คลองอีแอด แหลมผักเบี้ย หลังชาวบ้านโอด ชำรุด ถูกทิ้งร้าง แจงยิบ งบฯถูกพับ-สถานการณ์ โควิด-19 สั่ง เร่งแก้ด่วน 3 ข้อ
           เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2566 นายยุทธพล อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยถึงกรณีที่มีข้อร้องเรียนระบุ สะพานชมธรรมชาติริมคลองอีแอด ต.แหลมผักเบี้ย อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี มูลค่าการก่อสร้าง 26,061,000 บาท วัตถุประสงค์ในการก่อสร้าง เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว สร้างแล้วเสร็จเมื่อปี 2565 ซึ่งล่าช้ากว่ากำหนด แต่ปัจจุบันมีสภาพ ชำรุดเสียหายจนไม่สามารถใช้การได้ และไม่ได้รับการซ่อมแซม ถูกทิ้งร้าง
           นายยุทธพล กล่าวว่า ดังนั้นเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา ตน พร้อม นายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดี รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (รรท.อทช.) นางดาวรุ่ง ใจจริง ผู้อำนวยการกองอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน นางสาวอาทิตา จุ้ยจู่เอี้ยม เลขานุการกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นายสืบสกุล หนูไชยา ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 3 เจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 3 ตัวแทนบริษัทผู้รับจ้าง และคณะอาจารย์ด้านวิศวกรรมโยธา ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง
           นายยุทธพล กล่าวว่า เบื้องต้นพบว่า เกิดความชำรุดเสียหายหลาย. จุด บริเวณสะพานมีการทรุดตัว ซึ่งได้รับผลกระทบจากคลื่น ที่เกิดจากการสัญจรของเรือประมงขนาดใหญ่ซัด เพราะมีการสัญจรเข้าออกบริเวณดังกล่าวจำนวนมากต่อวัน ทำให้เกิดการเคลื่อนตัวของฐานสะพาน รวมถึงศาลาเอนกประสงค์เกิดความเสียหาย ประตูหน้าต่างชำรุด ถูกบุกรุก งัดแงะ กระจกถูกทุบแตก ห้องน้ำสภาพใช้งานไม่ได้
          นายยุทธพล กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ของสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่3 ให้ข้อมูลว่า การสร้างสะพานชมธรรมชาติ อาคารอเนกประสงค์ระหว่างเส้นทางชมธรรมชาติ ห้องน้ำที่ไว้ให้บริการนักท่องเที่ยว เป็นโครงการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลตะวันตก กิจกรรมพัฒนาภูมิทัศน์ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศป่าชายเลน ภายใต้โครงการป่าในเมือง ต. แหลมผักเบี้ย อ. บ้านแหลม จ. เพชรบุรี ได้รับงบประมาณจากกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง ตามแผนปฎิบัติราชการประจำปีงบประมาณ 2563 โดยมีบริษัทเอกชนเป็นผู้รับจ้าง เริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อปี 2563 ต่อมาประสบปัญหาสถานการณ์แพร่ระบาด โควิด-19 และปัญหาการทำงานไม่เป็นเวลาเนื่องจากสถานที่ก่อสร้างมีน้ำขึ้น-ลงตลอดเวลา ทำให้มีการขยายเวลาดำเนินการออกไป กระทั่งสร้างแล้วเสร็จ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 แต่จากการขยายเวลาการก่อสร้างเป็นระยะเวลานาน ส่งผลทางกฎหมาย งบประมาณถูกพับ ทำให้ไม่สามารถจ่ายเงินงบประมาณให้กับผู้รับจ้างได้ เป็นจำนวนเงิน 12,795,390 บาท
             นายยุทธพล กล่าวว่า กระทั่ง กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง ได้รับอนุมัติจากสำนักงบประมาณ โอนเปลี่ยนแปลงเงินจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบฯ 2565 ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์ส่งเสริมการพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ เพื่อจ่ายชดเชยงบประมาณรายจ่ายที่ถูกพับไปดังกล่าว ทำให้สามารถชำระเงินให้กับผู้รับจ้างได้ จำนวน 6,294,493 บาท คงค้างชำระ 6,500,869 บาท
              นายยุทธพล กล่าวว่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กำชับสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่3 โดยให้ 1.เร่งประสานติดตามทางบริษัทผู้รับจ้างเข้าซ่อมแซมส่วนที่ชำรุดให้เรียบร้อย เพื่อให้ประชาชนเข้าใช้ประโยชน์ได้ 2.ประสานจังหวัดเพชรบุรี เพื่อจัดตั้งงบประมาณส่วนที่ยังขาดจำนวน 6,500,869 บาท ให้ผู้รับจ้าง 3.เมื่อซ่อมแซมส่วนที่ชำรุดเรียบร้อยแล้วให้ร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดเจ้าหน้าที่คอยดูแลความเรียบร้อย อำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว ผู้ที่เข้าเยี่ยมชม

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!