อุบลราชธานี-ม.อุบลฯ จัดโครงการจิตอาสาปลูกป่าปลูกเห็ดพื้นบ้าน เฉลิมพระเกียรติฯ
ภาพ-ข่าว:ศูนย์ข่าวเฉพาะกิจจังหวัดอุบลราชธานี
มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดย คณะบริหารศาสตร์ ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย ชุมชนโดยรอบมหาวิทยาลัย และหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัย จัดโครงการจิตอาสาปลูกป่าปลูกเห็ดพื้นบ้าน เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง” โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชุตินันท์ ประสิทธิ์ภูริปรีชา อธิการบดี เป็นประธาน และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อุทัย อันพิมพ์ คณบดีคณะบริหารศาสตร์ กล่าวรายงาน
เพื่อน้อมถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 91 พรรษา ในปี 2566 ซึ่งปลูกต้นยางนาจำนวน 999 ต้น ในเขตพื้นที่ 5 ไร่ โอกาสนี้ คณบดีคณะบริหารศาสตร์ ได้สาธิตและให้ความรู้การปลูกป่าปลูกเห็ดพื้นบ้าน เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับมหาวิทยาลัย และเพิ่มแหล่งอาหารเห็ดให้กับบุคลากร นักศึกษา และประชาชนโดยทั่วไป เมื่อวันศุกร์ที่ 1 กันยายน 2566 ณ บริเวณศูนย์ศิลปวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อุทัย อันพิมพ์ คณบดีคณะบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า ในนามคณะบริหารศาสตร์ขอขอบคุณ คณะผู้บริหาร บุคลากร นักศึกษาและภาคีเครือข่าย บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด(มหาชน)มูลนิธิเพื่อเมืองและชุมชนยั่งยืน ชุมชนโดยรอบมหาวิทยาลัยและหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีที่ให้เกียรติร่วมกิจ กรรม“โครงการจิตอาสาปลูกป่าปลูกเห็ดพื้นบ้าน เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง” เพื่อน้อมถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 91 พรรษา ในปีพุทธศักราช 2566
นอกจากนี้การปลูกป่ายังเป็นการสร้างการมีส่วนร่วม และสร้างจิตสำนึกให้ทุกคน ทุกภาคส่วนช่วยกันฟื้นฟู ดูแลรักษา หวงแหนในทรัพยากรป่าไม้ สร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับพื้นที่ป่าไม้ของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีแล้ว ยังได้มีโอกาสร่วมมือกันในโครงการจิตอาสาปลูกป่า ปลูกเห็ดพื้นบ้าน เพื่อสร้างการมีส่วนร่วม สร้างจิตสำนึกที่ดี ปลูกฝังวัฒธรรมประเพณีอันดีงาม รวมทั้งเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องป่าและเห็ดพื้นบ้าน ซึ่งจะเป็นแหล่งอาหารและรายได้ที่สำคัญของชุมชนโดยรอบมหาวิทยาลัย จากความร่วมมือของทุกภาคส่วนในครั้งนี้ มีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นพื้นที่สีเขียวที่อุดสมบูรณ์อย่างยั่งยืนในอนาคตต่อไป