เพชรบุรี-สร้างการรับรู้หนอนหัวดำศัตรูตัวร้ายของตาลโตนด

เพชรบุรี-สร้างการรับรู้หนอนหัวดำศัตรูตัวร้ายของตาลโตนด

ภาพ/ข่าว:สุรพล นาคนคร

          วันนี้ (4 ก.ย.66) ณ บ้านไร่กร่าง หมู่ที่ 5 ตำบลไร่สะท้อน อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี นายณัฏฐชัย นำพูลสุขสันติ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี นายอำเภอบ้านลาด เกษตรและสหกรณ์จังหวัดเพชรบุรี เกษตรจังหวัดเพชรบุรี เกษตรอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน และเกษตรกรร่วมกิจกรรม
          นายธัญสิทธิ์ ชาติวิริยะพงษ์ เกษตรจังหวัดเพชรบุรี กล่าวว่า ได้มีการสำรวจข้อมูลต้นตาลโตนดที่มีอยู่ในทุกพื้นที่ของจังหวัดเพชรบุรี ในปี พ.ศ. 2562 พบว่ามีจำนวนต้นตาลทั้งหมด 337,230 ต้น ซึ่งตาลโตนดเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนเมืองอีกทั้งยังเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดเพชรบุรี และผลิตผลจากตาลโตนดโดยเฉพาะน้ำตาลโตนดยังเป็นส่วนผสมที่สำคัญในการทำขนมหวานเมืองเพชรที่มีชื่อเสียงตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ปัจจุบันประเทศไทยมีแนวโน้มจะเข้าสู่สภาวะเอลนีโญ ซึ่งส่งผลให้จังหวัดเพชรบุรี อาจเผชิญปัญหาฝนทิ้งช่วง และประสบภัยแล้งรุนแรงมากขึ้น ด้วยสภาวะดังกล่าวทำให้การระบาดของศัตรูพืชตระกูลปาล์ม ได้แก่ หนอนหัวดำมะพร้าว ทวีความรุนแรงขึ้น โดยพืชอาหารของหนอนหัวดำมะพร้าว ได้แก่ มะพร้าว ตาลโตนด อินทผลัม หมาก ปาล์มน้ำมัน ปาล์มประดับต่าง ๆ และเริ่มพบการเข้าทำลายของหนอนหัวดำมะพร้าวในตาลโตนดของจังหวัดเพชรบุรี ทั้งในแปลงของเกษตรกร สถานที่ท่องเที่ยว โรงแรม สถานศึกษา วัด สถานที่ราชการ เอกชน พื้นที่สาธารณะ และพื้นที่อื่น ๆ ซึ่งพบในอำเภอบ้านลาด จำนวน 6,521 ต้น และอำเภอเมืองเพชรบุรี จำนวน 7,815 ต้น รวมทั้งสิ้น จำนวน 14,336 ต้น คิดเป็นร้อยละ 4.25 ของจำนวนต้นตาลโตนดทั้งหมดในจังหวัดเพชรบุรี หากไม่รีบดำเนินการป้องกันกำจัดอาจเกิดการระบาดขยายเป็นวงกว้าง ส่งผลต่อผลผลิตและภาพลักษณ์ของจังหวัดเพชรบุรี
          สำนักงานเกษตรจังหวัดเพชรบุรี ได้ตระหนักถึงปัญหา ได้สร้างการรับรู้หนอนหัวดำศัตรูตัวร้ายของตาลโตนด ซึ่งจัดขึ้นที่ บ้านไร่กร่าง หมู่ที่ 5 ตำบลไร่สะท้อน อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับเกษตรกร และผู้ได้รับประโยชน์จากตาลโตนดได้ทราบถึงสถานการณ์ตาลโตนด และการจัดการหนอนหัวดำมะพร้าวในตาลโตนดอย่างยั่งยืน มีเกษตรกรและผู้ได้รับประโยชน์จากตาลโตนด จาก 8 อำเภอ จำนวน 72 ราย ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จำนวน 3 ประเด็น ได้แก่ สถานการณ์การผลิตตาลโตนดของจังหวัดเพชรบุรี หนอนหัวดำมะพร้าวศัตรูตัวร้ายของตาลโตนด และการใช้แตนเบียนบราคอนกำจัดหนอนหัวดำมะพร้าวในตาลโตนดอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ มีการเรียนรู้ธรรมชาติของป่าตาล การใช้ประโยชน์จากต้นตาลโตนด และวิถีชีวิตการทำน้ำตาลโตนด ของชุมชนบ้านไร่กร่าง เพื่อให้เกษตรกรและผู้ได้รับประโยชน์จากตาลโตนดเกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง เกิดความรู้ เกิดการต่อยอดถ่ายทอดความรู้ทางการเกษตรอันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอาชีพของเกษตรกรและการอนุรักษ์ตาลโตนดของจังหวัดเพชรบุรีต่อไป

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!