ชุมพร-สร้างมือเคาะทุเรียนเพิ่ม ป้องกันการส่งทุเรียนอ่อนออกต่างประเทศ ทำตลาดวูบ ราคาร่วง
ภาพ/ข่าว:ทนงศักดิ์ ศุภการ
วันที่ 6 ก.ย.66 ว่าที่ร้อยตรี สมบัติ สิงห์คาร นายอำเภอท่าแซะ เป็นประธานเปิดการฝึกอบรมอาชีพผู้ปฏิบัติงานคัดแยกคุณภาพทุเรียน ภายใต้ความร่วมมือในการดำเนินการระหว่างสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) กับหลักสูตรรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้-ชุมพร และ สมาคมประชาสังคมชุมพร ณ องค์การบริหารส่วนตำบลสองพี่น้อง อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร โดยมี ผศ ดร.ชุมพล อังคณานนท์ อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์แม่โจ้ชุมพร และวิทยากรที่มีความรู้ความชำนาญในการคัดแยกทุเรียนคุณภาพ นายบรรเลง ศรีสวัสดิ์ และนายเจริญ อาจประดิษฐ์ สมาชิกสภาเกษตรกร อ.ท่าแซะ เข้าร่วม มีนายหนูไกร วงษ์ธรรม กำนันตำบลสองพี่น้อง นายปรีชา มีสุวรรณ นายก อบต.สองพี่น้อง ร่วมดำเนินงานการจัดฝึกอบรมในครั้งนี้
โดยก่อนหน้านี้ อำเภอท่าแซะ ได้แต่งตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาผู้ไร้สถานะสิทธิทางทะเบียนและพัฒนาคุณภาพชีวิตประชากรกลุ่มเฉพาะ (ไทยพลัดถิ่น) รวม 3 คณะ ได้แก่ คณะทำงานด้านอำนวยการ คณะทำงานด้านการแก้ไขปัญหาสถานะสิทธิทางทะเบียน คณะทำงานด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต จึงได้มีการฝึกอาชีพการเคาะทุเรียนสร้างมาตรฐานทางอาชีพ โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพประมาณ 40,000 บาท ที่มีรับการอบรม 80 คน ซึ่งจังหวัดชุมพร มีพื้นที่ปลูกทุเรียนมากเป็นอันดับ 1 ของภาคใต้กว่า 276,254 ไร่ ในปี 2566 สามารถสร้างผลผลิตได้ 337,376 ตัน หรือผลผลิตต่อไร่ 1,521 กิโลกรัม โดยมีเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน 25,490 ราย มีโรงคัดบรรจุผลไม้ 439 แห่ง และมีผู้มาขึ้นทะเบียนนักคัด นักตัดทุเรียน รวม 793 ราย
ซึ่งทุเรียนจากจังหวัดชุมพรถือเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของประเทศไทย ทุเรียนที่ส่งออกต้องได้คุณภาพและเป็นไปตามมาตรฐานการส่งออกที่กำหนดไว้ ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพผลผลิตที่สวน คุณภาพผลผลิตที่โรงคัดบรรจุ ตลอดจนการขึ้นทะเบียนนักคัด นักตัดทุเรียนที่ได้มาตรฐานวิชาชีพ การอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนในฐานะกลุ่มเป้าหมายหลัก รวมทั้งในกลุ่มพ่อค้า แม่ค้า ผู้สนใจ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคว่า “ทุเรียนชุมพร เป็นทุเรียนคุณภาพดี ปลอดภัย ได้มาตรฐาน” จึงเป็นเรื่องสำคัญ