อยุธยา-อยุธยาซิตี้พาร์คจัดประกวดปลากัด“จากอโยธยา สู่ Galaxy”
ภาพ – ข่าว นราเอก ตันศิริ / นพดล บำเพ็ญสัตย์
อยุธยาซิตี้พาร์ค ร่วมกับ ชมรมประกวดปลากัดสวยงาม ชมรมอนุรักษ์และพัฒนาปลากัดพื้นบ้าน และสมาคมอนุรักษ์และพัฒนาบอนสีแห่งประเทศไทย แถลงข่าวจัดประกวดปลากัด “จากอโยธยา สู่ Galaxy” วันที่ 13-15 ตุลาคม 2566 ที่ศูนย์การค้าอยุธยาซิตี้พาร์ค
ที่ ห้อง Meeting Room 4 ศูนย์การค้าอยุธยาซิตี้พาร์ค ชมรมประกวดปลากัดสวยงาม (Betta Competition by BCC) ชมรมอนุรักษ์และพัฒนาปลากัดพื้นบ้าน และสมาคมอนุรักษ์และพัฒนาบอนสีแห่งประเทศไทย ร่วมกันแถลงข่าวจัดการประกวดปลากัด(สวยงาม) ปลากัด(พื้นบ้าน) บอนสี(แห่งประเทศไทย) “จากอโยธยา สู่ Galaxy” โดยมี ดร.สมพล รัชตพิมลชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการตลาด ศูนย์การค้าอยุธยาซิตี้พาร์ค คุณวงศพัทธ์ รังสรรค์ปรีชา ประธานชมรมประกวดปลากัดสวยงาม และกรรมการผู้จัดการผลิตภัณฑ์ซูม่า คุณมนูธรรม หาญณรงค์พาณิชย์ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ชมรมประกวดปลากัดสวยงาม และเจ้าของกิจการธุรกิจฟาร์มลุงแดงปลากัดยักษ์ไทย คุณชาญชัย สุนันท์กิ่งเพชร ประธานชมรมอนุรักษ์และพัฒนาปลากัดพื้นบ้าน และบุคคล โครงการดีเด่นแห่งชาติปี 61 และคุณชัยวัฒน์ ลีเลียง นายกสมาคมอนุรักษ์และพัฒนาบอนสีแห่งประเทศไทย ร่วมแถลงข่าว
ดร.สมพล รัชตพิมลชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการตลาด ศูนย์การค้าอยุธยาซิตี้พาร์ค กล่าวถึงการจัดงานประกวดปลากัด (สวยงาม) ปลากัด (พื้นบ้าน) บอนสี (แห่งประเทศไทย) “จากอโยธยา สู่ Galaxy” ว่า การจัดงานครั้งนี้จัดขึ้นที่ศูนย์การค้าอยุธยาซิตี้พาร์ค ถือว่าเป็นการจัดงานครั้งแรก ที่ได้รับความร่วมมือจากทั้ง 3 องค์กร ได้แก่ ชมรมปลากัด (สวยงาม), ชมรมอนุรักษ์และพัฒนาปลากัดพื้นบ้าน และสมาคมอนุรักษ์และพัฒนาบอนสีแห่งประเทศไทย และที่ยิ่งไปกว่านั้นการมาจัดการประกวดปลากัด ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ราชธานีเก่า ซึ่งในสมัยนั้นเวลาว่างจากการศึกสงคราม ชาวบ้านมักจะเล่นกีฬาการกัดปลากันอย่างสนุกสนาน แต่ในการประกวดครั้งนี้ไม่ได้เน้นด้านกีฬา แต่เน้นเรื่องความสวยงามของสีสันและการพัฒนาสายพันธุ์ ให้เป็นที่ประจักษ์ระดับสากล ให้รู้จัก “ปลากัดไทย” มากขึ้น และการจัดงานครั้งนี้ยังได้มาจัดใน “ดินแดนอโยธยา” เป็นความลงตัวที่สวยงามอย่างมาก
การจัดงานประกวดครั้งนี้ อยุธยาซิตี้พาร์คต้องการส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยง ผู้เล่น ผู้ที่สนใจ และผู้ที่ชื่นชอบการเพาะพันธุ์ปลากัดให้มีโอกาสได้พบปะแลกเปลี่ยนกัน เป็นการกระตุ้นวงการปลากัด บอนสีให้กลับคึกคักอีกครั้ง และในด้านความร่วมมือและการสนับสนุนการจัดงาน อยุธยาซิตี้พาร์จัดเตรียมพื้นที่สำหรับจัดการประกวดปลากัด ปลากัดพื้นที่ บอนสี กว่า 600 ตร.ม. บริเวณชั้น 1 หน้าโลตัส และร่วมสนับสนุนถ้วยรางวัลในนามศูนย์การค้าอยุธยาซิตี้พาร์ค จำนวน 120 ถ้วย, เหรียญรางวัล จำนวนกว่า 200 เหรียญ
นอกจากนี้ทางศูนย์การค้าฯ จัดเตรียมสถานที่รองรับผู้ที่ส่งปลากัด บอนสีเข้าร่วมประกวด และผู้เข้ามาชมงานด้วยพื้นที่จอดรถกว่า 3,000 คัน มีร้านค้าและบริการต่างๆ กว่า 350 ร้าน และพื้นที่ที่มีการรีโนเวท พร้อมเปิดให้บริการแล้วได้แก่พื้นที่ภายในศูนย์การค้าฯ “แกรนด์ฮอลล์”ชั้น 1 และพื้นที่ภายนอก “Event Park” ที่ปรับปรุงใหม่ ด้วยการนำ“อิฐมูลช้าง” ที่มีคุณสมบัติด้านเส้นใยใน “มูลช้าง” มาแปรรูปเป็นก้อนอิฐที่แข็งแรง สามารถใช้เป็นวัสดุก่อสร้างอาคารได้จริง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมให้บริการตลอดการจัดงาน
คุณวงศพัทธ์ รังสรรค์ปรีชา ประธานชมรมประกวดปลากัดสวยงาม กล่าวว่า การจัดกิจกรรมการประกวดครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนส่งเสริมกิจกรรมหลักจากศูนย์การค้าอยุธยาซิตี้พาร์ค ที่ให้ชมรมประกวดปลากัดสวยงาม ปลากัดพื้นบ้าน และบอนสี เพื่อส่งผลต่อภาคเกษตรกรและการตลาด ให้มีความยั่งยืนโดยการผลักดัน วงการปลากัดสวยงาม ให้มีความต้องการสูงขึ้น ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ทั่วโลก ซึ่ง ณ เวลานี้ก็มีอยู่อย่างแพร่หลาย ตลอดจนกลไกราคาตคลาด ซึ่งไฮไลท์การจัดประกวด ในครั้งนี้จัดใหญ่ที่รุ่นหลัก 17 รุ่นและรุ่นย่อย 50 รุ่นรวม 67 รุ่น ซึ่งใหญ่ที่สุดในจังหวัดอยุธยาที่เคยมีมา และมากกว่านั้นยังมีพันธมิตร จากชมรมอนุรักษ์และพัฒนาปลากัดพื้นบ้าน สมาคมบอนสีแห่งประเทศไทย เรียกได้ว่าการประกวดนั้นรวมกว่า 100 รุ่นการแข่งขันเลยทีเดียว
อีกทั้งทางชมรมฯ ยังมีการ ส่งเสริมปลาที่ชนะเลิศรางวัลยอดเยี่ยมปลากัด หางสั้น หางยาว ให้เป็นตัวแทนประเทศไทย ไปแข่งขันยังเวทีสากล และ การแข่งขันแสดง สายพันธุ์ปลากัดที่มีสีสัน ลวดลายคล้ายธงชาติไทยและทั่วโลก ซึ่งเป็นไฮไลท์ ครั้งแรกของประเทศไทยที่เปิดให้รวบรวมสีธงชาติทั่วโลก ตลอดจนปลาที่ได้อันดับสองให้มีการสนับสนุนชิงรางวัลยอดเยี่ยมอันดับสองอีกด้วย นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมเสวนา เทคนิคการถ่ายภาพแบบ Art และ การเพาะพันธุ์ปลากัด ละอองดาว กาแลคซี่ จากผู้มีประสบการณ์ ในครั้งนี้ กิจกรรมการออกร้านจัดจำหน่ายปลากัดสายพันธุ์เกรดคุณภาพ ภายในงาน บอนสี ปลากัดพื้นบ้าน กิจกรรมเกมส์และการแจกของรางวัล สายพันธุ์ปลา มากมาย เรียนเชิญให้มาร่วมงานกัน ณ อยุธยาซิตี้พาร์ค ชั้น 1 หน้าโลตัส จังหวัดอยุธยา
คุณชาญชัย สุนันท์กิ่งเพชร ประธานชมรมอนุรักษ์และพัฒนาปลากัดพื้นบ้าน กล่าวว่า ปลากัดป่าหรือปลากัดพื้นบ้านดั้งเดิม (Betta Splendens) เท่าที่สืบค้นข้อมูลมาได้ มีความเกี่ยวพันกับสังคมไทยมาทุกยุคสมัย ตั้งแต่สุโขทัยจนถึงปัจจุบัน และการเลี้ยงปลากัดก็เข้าถึงในทุกชนชั้นตั้งแต่ชาวบ้าน เจ้าขุนมูลนายถึงพระมหากษัตริย์ ในยุคแรกนิยมหากันมาเลี้ยงเพื่อสันทนาการหรือการพนัน แต่ภายหลังปัจจุบันนำมาพัฒนาสีสันแลดูแปลกตา จึงนิยมนำมาเป็นเกมส์ประกวดกันมากขึ้น
ปลากัดป่าหรือปลากัดพื้นบ้านดั้งเดิม เป็นรากเหง้าหรือต้นตอของปลากัดสวยงามที่เห็นกันในปัจจุบัน ดังที่จะขอเสนอปลากัดป่าที่ถูกพัฒนาได้จนมีสีสันคล้ายปลากัดแบล็คซามูไร แต่ยังคงรูปทรงเพรียวบางความมีเสน่ห์ของปลากัดป่าอยู่ ความแปลกใหม่สวยงามนี้ทำให้สร้างมูลค่าสูงถึงตัวละกว่า 5 พันบาท และอนาคตอันใกล้นี้เราจะได้เห็นการพัฒนาปลาสายนี้ในรูปแบบ “ปลากัดลาย กาแล็กซี” อีกด้วย
คุณชัยวัฒน์ ลีเลียง นายกสมาคมอนุรักษ์และพัฒนาบอนสีแห่งประเทศไทย (บอนสี Caladium) กล่าวว่า บอนสีมีในเมืองไทยมานานแล้ว และได้มีการนำเข้าจากต่างประเทศมาในเมืองไทยราวต้นรัชกาลที่ 5 หรืออาจก่อนนั้น ครั้งสำคัญคือคราวเสด็จประพาสยุโรป ได้นำพรรณไม้นานาชนิดเข้ามาในไทยรวมถึงบอนสีด้วย ต่อมามีการศึกษาการขยายพันธุ์และผสมพันธุ์ให้ได้สายพันธุ์ใหม่ๆ และนิยมเลี้ยงในหมู่เจ้านายและผู้มีฐานะใส่กระถางเคลือบวางโชว์รอบเรือนเป็นการอวดบารมี จนได้ชื่อว่าบอนเจ้า
ยุคเฟื่องฟูของบอนสีคือ ปี 2474-2475 บาร์ไก่ขาว สถานที่นัดพบของนักเลงบอนสีในยุคนั้น มีการนำมาประชันอวดโฉมตลอดจนให้ชื่อ โดยอิงตามวรรณคดีไทย เช่นตับขุนช้างขุนแผน ตับอิเหนา ตับนก เป็นต้น ต่อมาราวปี 2509 เป็นต้นมามีการนำเข้าบอนใบยาวหรือใบจีนมีความอ่อนช้อยสวยงามและผสมได้สายพันธุ์ใหม่ๆมากมายจนถึง 2525 ที่มีการก่อตั้งสมาคมขึ้นมา และดำเนินการประกวดบอนสีมาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2548 – 2549 เป็นอีกช่วงหนึ่งที่ก่อกำเนิดสมาคมบอนสีรวมถึง 2 สมาคม เห็นได้ว่าบอนสีมีความเฟื่องฟูเป็นอย่างมาก และในปี 2565 นับเป็นยุคทองแห่งบอนสีก็ว่าได้ ด้วยมีการผสมบอนสีสายพันธุ์ด่างป้าย อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เกิดความสนใจในวงกว้างและซื้อขายต้นละหลักแสนบาทเลยทีเดียว และในปีนี้เองก็ได้ก่อกำเนิดสมาคมอนุรักษ์และพัฒนาบอนสีแห่งประเทศไทย อันเป็นสมาคมที่เกี่ยวกับบอนสีลำดับที่ 3 บอนสีและปลากัด ต้องเรียกว่าเป็นของคู่กัน เพราะเป็นที่นิยมสะสมมาตั้งแต่อดีต มีการประกวดประชันแข่งขันกันมาโดยตลอด และครั้งนี้นับเป็นครั้งสำคัญที่ปลากัดและบอนสีได้เฉิดฉายเคียงคู่กันอีกครั้ง
นายมนูธรรม หาญณรงค์พาณิชย์ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ชมรมประกวดปลากัดสวยงาม และเจ้าของกิจการธุรกิจฟาร์มลุงแดงปลากัดยักษ์ไทย กล่าวว่า ในฐานะที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ ซึ่งเล็งเห็นประโยชน์จากการจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมภาคเกษตรกรและผู้เพาะเลี้ยงทำให้เกิดสภาพคล่องทางอุตสาหกรรมการตลาดในธุรกิจปลากัดสวยงาม ซึ่งมียอดส่งออกเป็นอันดับ 1 ในกลุ่มปลาสวยงามทั้งหมดซึ่งเล็งเห็นว่า มีความต้องการทางการตลาดสูงมาก และการประกวด จะเป็นตัวเชื่อมโยงที่จะประชาสัมพันธ์ทั่วประเทศและสู่สากลในกลุ่มผู้เลี้ยงและผู้สนใจ ให้เกิดความหลงใหลในความงดงามของปลากัดไทย อีกทั้งจะเป็นตัวแปรสำคัญในการเพิ่มมูลค่าค้าส่งและค้าปลีกได้อีกด้วย และในงานนี้เราก็ได้นำปลากัดยักษ์ไทยซึ่งมีการพัฒนามามากกว่า 20 ปี โดยทำให้ขนาดลำตัวของปลากัดมีขนาดใหญ่กว่าปกติถึง 2 เท่า มาจัดแสดงอีกด้วย