ชลบุรี-กลุ่มแรงงานกว่า 150 คน เรียกร้อง หลังโดนเลิกจ้างไม่ได้รับเงินเดือนและเงินชดเชย กว่า 11 ล้านบาท
ภาพ/ข่าว:นิราช / นันทพล ทิพย์ศรี
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 20 พฤศจิกายน 2566 ผู้สื่อข่าวรางานว่า ที่บริเวณหน้า บริษัท ไทยออลย์ จำกัด (มหาชน) ต.ทุ่งสุขลา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ได้มีกลุ่มผู้ใช้แรงงานจำนวน 152 ราย ของบริษัท ซัมเฮียง อิเล็กทรอนิกส์ พาวเวอร์ จำกัด เลขที่ 3/27 ม.2 ต.ทุ่งสุขลา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นบริษัท ซัพพลายเออร์ ของบริษัท ปิโตรเฟค และ บริษัท Unincorporated Joint Venture ภายใต้การจ้างงานของบริษัท ไทยออลย์ จำกัด (มหาชน) มายืนถือป้ายเรียกร้องเงินเดือนและเงินชดเชย ภายหลังจากที่ถูก บริษัท ซัมเฮียง อิเล็กทรอนิกส์ พาวเวอร์ จำกัด เลิกจ้างไปเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม ที่ผ่านมา และทางบริษัท ได้มีการตกลงจ่ายเงินค่าชดเชยและเงินอื่นๆ ตามที่กฎหมายกำหนด ภายวันที่ 5 สิงหาคม ที่ผ่านมา แต่เมื่อถึงวันนัดหมาย ปรากฎว่ากลุ่มแรงงานไม่ได้รับเงินดังกล่าว จึงได้รวมตัวกันไปร้องเรียนต่อ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชลบุรี
ต่อมา ในวันที่ 6 ตุลาคม ที่ผ่านมา ผู้แทนจากบริษัท Unincorporated Joint Venture ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างบริษัท ซัมเฮียง อิเล็กทรอนิกส์ พาวเวอร์จำกัด ได้เดินทางไปที่ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชลบุรี และได้มีการเจรจากับผู้แทนลูกจ้างที่ร้องเรียน โดยได้มีการตกลงจ่ายเงินให้กับลูกจ้าง ตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม ถึง 15 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา โดยมีผู้แทนจากสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชลบุรี เป็นตัวกลาง และจนถึงปัจจุบันนี้ ทางบริษัท ก็ยังไม่มีการจ่ายเงินแต่อย่างใด
ด้านนายภูริณัฐ สำเภา อายุ 58 ปี หนึ่งในผู้ร้องเรียน กล่าวว่า วันนี้มีแรงงานที่ได้รับผลกระทบ 152 คน ที่ยังได้รับเงินเดือนและค่าชดเชยตามที่กฎหมายกำหนด คิดเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 11,762,220.96 บาท ซึ่งที่มากันวันนี้ ก็เพื่ออยากจะให้ทาง บริษัท ไทยออลย์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้าง บริษัท Unincorporated Joint Venture และบริษัทดังกล่าว มาว่าจ้าง บริษัทซัมเฮียง อิเล็กทรอนิกส์ พาวเวอร์ จำกัด ให้นำแรงงานเข้าไปทำงานภายในไซด์งานของพื้นที่ ไทยออลย์ ช่วยดำเนินการติดตามบริษัทดังกล่าว นำเงินมาจ่ายให้กับลูกจ้างตามกฎหมาย
ต่อมาได้มี นายสหัสวัต คุ้มคง สส.เขต 7 จังหวัดชลบุรี พรรคก้าวไกล ได้นำผู้แทนของกลุ่มผู้ร้องเรียนเข้าห้องประชุม เพื่อเจรจาร่วมกับทางผู้แทนบริษัท ไทยออลย์ โดยในเบื้องต้นทาง บริษัท ไทยออลย์ จำกัด (มหาชน) ได้ชี้แจงต่อผู้ร้องเรียนว่า ตามหลักการแล้วทางกลุ่มผู้ร้องเรียน ต้องไปร้องทุกข์ต่อสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชลบุรี เนื่องจากผิดนัดหมายในการจ่ายเงิน เพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐ เป็นผู้ดำเนินการตามกระบวนการขั้นตอนต่างๆ ของกฎหมายต่อไป ทั้งนี้ บริษัท ไทยออลย์ จำกัด (มหาชน) ได้ว่าจ้างบริษัท Unincorporated Joint Venture และทางบริษัทดังกล่าว ก็ได้ไปจ้าง บริษัท ซัมเฮียง อิเล็กทรอนิกส์ พาวเวอร์ จำกัด อีกทอดหนึ่ง เพื่อนำผู้ใช้แรงงาน เข้ามาทำงานในพื้นที่