นครสวรรค์-กขป. 3 รายงานผลการดำเนินงาน ต่อนายก อบจ.

นครสวรรค์-กขป. 3 รายงานผลการดำเนินงาน ต่อนายก อบจ.

ภาพ/ข่าว:ชาติชาย เกียรติพิริยะ

          เมื่อเวลา 14:00 น. วันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 ศูนย์ควบคุม กำกับและติดตามการปฏิบัติงาน อบจ. นครสวรรค์ พลตำรวจเอกสมศักดิ์ จันทะพิงค์ นายกอบจ. นครสวรรค์ ได้ร่วมประชุมกับ นายแพทย์สมพงษ์ ยูงทอง ประธานอนุกรรมการยุทธศาสตร์กขป.3 ดร.วิสุทธิ์ บุญญะโสภิต รองประธาน กขป. 3 รศ.ดร.วรรณา ประยุกต์วงษ์ กรรมการ กขป.3 เรื่องรายงานผลการดำเนินงาน กขป. 3 ในช่วงปี 2566, ร่วมหารือแนวทางการดำเนินงาน เพื่อขับเคลื่อนประเด็นยุทธศาสตร์ในช่วงปี 2567, รายงานผลการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างทีมงาน กขป. 3 นครสวรรค์กับกองสาธารณสุข อบจ.ในเขต 3
          ก่อนการประชุมได้มีการพูดถึง เรื่องจิตตปัญญา และจิตวิทยาเด็ก รวมทั้งกล่าวถึงเรื่อง “มหัศจรรย์พันวัน” คือ ตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนถึง 3 ขวบ เป็นช่วงระยะที่เด็กจะมีการพัฒนาทางสมองมากที่สุด รวมถึงทางด้านสุขภาพจิต และถือว่าเป็นการลงทุนที่น้อยที่สุด ปัญหาด้านสุขภาพจิตของเด็ก กับกรณีครูผู้สอนหรือผู้ดูแลเด็ก ควรมีความรู้ทางด้านจิตวิทยาเด็ก ควรเข้ารับการเรียนรู้ การฝึกอบรมในเรื่องของจิตตปัญญา เพื่อจะได้ดูแลเด็กในเรื่องของสุขภาพจิตและการเรียนรู้ ตามความถนัด ความสามารถและความแตกต่างระหว่างบุคคล รวมถึงการเรียนรู้เรื่องการเล่านิทานของครูและผู้ปกครองเพื่อสร้างจินตนาการในเด็ก นายก อบจ.รับว่าจะไปศึกษาและนำมาเผยแพร่ต่อในกลุ่มอบต.ที่มีศูนย์เด็กเล็ก
          ในส่วนของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ดร.วิสุทธิ์ บุญญโสภิต รายงานสรุปว่า 1. ในที่ประชุม เห็นด้วยกับนโยบายการกระจายอำนาจด้วยการถ่ายโอนรพ. สต มาสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด แต่ยังดำเนินการไม่ครบทุกแห่ง ทำให้มีระบบเดิมและระบบใหม่ , 2. กองสาธารณสุข สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นกลไกสำคัญในการรองรับภารกิจการถ่ายโอนรพ. สต และควรมี กรอบภารกิจอย่างน้อย 3 ด้านได้แก่ ด้านการบริหารจัดการและยุทธศาสตร์ ด้านการสาธารณสุข และด้านการแพทย์ , 3. จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้พบว่ามีเรื่องที่ควรพิจารณา 3 เรื่อง คือ 3.1 บุคลากรจากสายงานอื่น ทำหน้าที่ผู้อำนวยการกองการสาธารณสุข 3.2 ในการบรรจุบุคลากรให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทยกำหนดให้เรียกชื่อบุคคลากรที่ขึ้นบัญชีไว้กับส่วนกลาง 3.3 สาธารณสุขอำเภอ ถือว่าเป็นตำแหน่งสายวิชาการไม่ใช่ตำแหน่งสายบริหาร , 4. ข้อเสนอจากผู้ร่วมเวที 3 ประเด็น คือ 4.1 กระทรวงมหาดไทยควรปรับแก้เงื่อนไขและวิธีการได้มาซึ่งตำแหน่งผู้อำนวยการกองสาธารณสุข 4.2 อบจ.ควรมีการออกแบบงานและโครงสร้างอัตรากำลังเพื่อรองรับงานด้านการแพทย์ รวมทั้งการจัดตั้งคลินิกพิเศษ หรือการพัฒนาระบบ Tele-Medicine 4.3 ภายในกองสาธารณสุขสังกัด อบจ.ควรมีการวางตัวบุคลากรให้ทำหน้าที่เชื่อมโยงการทำงานของรพ.สต. ภายในอำเภอเดียวกัน ส่วนในเรื่องของกองสาธารณสุข อบจ.นครสวรรค์ นางนิศากร ชูเมือง รักษาการหัวหน้างานบริหารทั่วไป ได้ชี้แจงว่า ในด้านงานของกองสาธารณสุข อบจ. ก็ยังไม่ชัดเจนในเรื่องของการรักษาโรค ในเรื่องของการพยาบาล และการบริหารจัดการ ซึ่งตนเองมาจากงานสายพยาบาลก็ต้องดูแลรับผิดชอบงานทุกเรื่องที่เกี่ยวกับรพ.สต. เพื่อให้งานเดินไปได้ด้วยดี

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!