อุบลราชธานี-วิศวะ ม.อุบลฯ จัดงานประชันทักษะทางด้านสมองกลฝังตัวชิงแชมป์ประเทศไทย

อุบลราชธานี-วิศวะ ม.อุบลฯ จัดงานประชันทักษะทางด้านสมองกลฝังตัวชิงแชมป์ประเทศไทย

ภาพ/ข่าว:ศูนย์ข่าวเฉพาะกิจจังหวัดอุบลราชธานี

           สมาคมสมองกลฝังตัวไทย (TESA) ร่วมกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) จัดงานระดับชาติ การประชันทักษะทางด้านระบบสมองกลฝังตัวชิงแชมป์ประเทศไทย ครั้งที่ 17 TESA Top Gun Rally 2023 ในหัวข้อ“ระบบแสดงผล และการจัดการสภาวะน้ำท่วม และน้ำแล้ง” ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี รับเกียรติจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชุตินันท์ ประสิทธิ์ภูริปรีชา อธิการบดี เป็นประธาน โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มงคล ปุษยตานนท์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ กล่าวรายงาน และ ดร.วัชระ ฉัตรวิริยะ นายกสมาคมสมองกลฝังตัวไทย กล่าวถึงการดำเนินงาน ซึ่งมีนักศึกษาจาก 30 สถาบันทั่วประเทศ จำนวน 49 ทีม จำนวนกว่า 300 คนเข้าร่วมงาน ระหว่างวันที่ 19-25 พฤศจิกายน 2566 ณ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
          ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มงคล ปุษยตานนท์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ กล่าวว่า TESA Top Gun Rally ครั้งที่ 17 เป็นการแข่งขันทักษะทางวิชาการ จัดโดย สมาคมสมองกลฝังตัวไทย (TESA) เป็นเวทีส่งเสริมผู้มีความสามารถด้านระบบสมองกลฝังตัว สำหรับนักศึกษา เพื่อมีส่วนร่วมในสภาพแวดล้อมที่เข้มงวด มีวัตถุประสงค์หลัก ประกอบด้วย Skills Enhancement : การเพิ่มทักษะและความเชี่ยวชาญของวิศวกรไทย ในด้านระบบสมองกลฝังตัว การได้สัมผัสกับเทคโนโลยีล้ำสมัย สนับสนุนให้ผู้เข้าร่วมคิดอย่างสร้างสรรค์และใช้ความรู้ของตนเพื่อแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาต่างๆ การทำงานร่วมกัน สร้างเครือข่ายที่มีคุณค่าและขยายมุมมองของตนเองได้ นักศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรมจะผ่านการอบรมเชิงปฏิบัติการ 3 track เพื่อนำมาใช้พัฒนาระบบต้นแบบที่จะสาธิต กิจกรรมการบรรยาย การเสวนา ผลกระทบจากการบริหารจัดการน้ำต่อภาคสังคมและประชาชน ทำโจทย์และประเมิน อบรม Project Management และวัดผล
          การจัดงาน การประชันทักษะทางด้านระบบสมองกลฝังตัวชิงแชมป์ประเทศไทย ครั้งที่ 17 TESA Top Gun Rally ครั้งที่ 17 สามารถตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมทั้งภายในและต่างประเทศ สอดคล้องกับแนวคิดที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อชุมชนท้องถิ่นของอุบลราชธานี ในการมีส่วนร่วมกับชุมชน แก้ไขปัญหาการจัดการน้ำ ถือเป็นข้อพิสูจน์ถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการส่งเสริมความสามารถด้านวิศวกรรม การสนับสนุนนวัตกรรม และการจัดการปัญหาในโลกแห่งความเป็นจริงผ่านการทำงานร่วมกันและเทคโนโลยี ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชันทักษะฯ จาก 30 สถาบันทั่วประเทศ แบ่งเป็น 49 ทีม โดย ทีมที่ชนะเลิศจะได้รับรางวัล ถ้วยพระราชทานฯ พร้อมเป็นแนวทางในการต่อยอดแนวคิดในการพัฒนาระบบสมองกลฝังตัวของประเทศให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!