บุรีรัมย์-เปิดกองทุนพัฒนาเกษตรกรไทยสู่สากล

บุรีรัมย์-เปิดกองทุนพัฒนาเกษตรกรไทยสู่สากล

ภาพ-ข่าว:คมกฤช พวงศรีเคน

จังหวัดบุรีรัมย์ เปิดกองทุนพัฒนาเกษตรกรไทยสู่สากล โครงการ หนึ่ง ไร่ หนึ่ง ล้าน โซนสตึก นำร่องแห่งแรกภาคอีสานที่จังหวัดบุรีรัมย์ สร้างความมั่นคงให้แก่เกษตรกรอย่างยั่งยืน

              เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 นายจำเริญ แหวนเพ็ชร รองผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นประธานเปิดกองทุนพัฒนาเกษตรกรไทยสู่สากล โครงการ หนึ่ง ไร่ หนึ่ง ล้าน โซนสตึก นำร่องแห่งแรกของภาคอีสานที่จังหวัดบุรีรัมย์ ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวพระราชดำริ แปลงต้นแบบของนายบุญเลิศ จันทร์พลงาม ณ บ้านหนองทัพค่าย หมู่ 6 ตำบลทุ่งวัง อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ พร้อมด้วยผู้แทนนายอำเภอสตึก พัฒนาการการอำเภอสตึก ผู้แทนเกษตรอำเภอสตึก กำนัน ผู้ใหญ่บ้านและพี่น้องเกษตรกรชาวอำเภอสตึกเข้าร่วมกิจกรรม ดำเนินงานโดยกองทุนพัฒนาเกษตรกรไทยสู่สากล ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ทั้งนี้ กองทุนพัฒนาเกษตรกรไทยสู่สากลภาคอีสาน เป็นกองทุนเกิดจากการรวมตัวกันของเกษตรกรโดยไม่มีเงื่อนไขมารวมกลุ่มกันเพื่อให้ได้จังหวัดละ 4,000 คน
              จังหวัดบุรีรัมย์เป็นจังหวัดต้นแบบ ที่จะทำให้จังหวัดบุรีรัมย์เป็นจังหวัดที่สมบูรณ์ทั้ง 4,000 ครอบครัว โดยเริ่มต้นนำร่องที่จังหวัดบุรีรัมย์ แล้วกระจายไปจังหวัดอื่นๆในภาคอีสานครบทั้ง 20 จังหวัดและที่ภาคกลางมีที่จังหวัดนครสวรรค์ โดยแบ่งจังหวัดบุรีรัมย์เป็น 8 โซนใน 23 อำเภอ แบ่งเป็นโซนละ 2-3 อำเภอ 8 โซนจะมีสมาชิกทั้งหมดตัวละ 25 กลุ่มๆละ 20 คน รวมเป็น 500 คน 8 โซนรวมทั้งสิ้น 4,000 คน ซึ่งเริ่มขุดในแปลงต้นแบบของแต่ละโซน ครบทั้ง 8 โซน ที่เป็นแปลงต้นแบบให้กับพี่น้องเกษตรกร เพื่อให้ได้เรียนรู้ใกล้ๆ มีวิทยากรออกไปสอนไปดูแลการทำกิจกรรม สำหรับการขุดแรงนี้เกษตรกรไม่ได้เสียเงินแต่ประการใด โดยกองทุนเป็นคนดูแลในการหางบประมาณมาดำเนินการให้ทั้งหมด
                นายจำเริญ แหวนเพ็ชร รองผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า สมาชิกเกษตรกรพัฒนาสู่สากลมีการรวมตัวกันเพื่อที่จะนำหลักทฤษฎีต่างๆมาใช้ในการทำพื้นที่ 1 ไร่เพื่อให้มีผลผลิตได้มูลค่า 1 ล้านบาทต่อไร่ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ฝ่ายวิชาการก็ได้ผ่านการวิจัยมาสู่พี่น้องเกษตรกร พี่น้องเกษตรกรต้องมีใจที่จะทำเพราะว่าเป็นเกษตรอินทรีย์ เกษตรที่ต้องใช้พื้นที่ทุกตารางนิ้วให้เกิดคุณภาพ การปลูกข้าวต้องมีน้ำเพียงพอก็ปลูกได้ปีละ 3-4 รอบ เป็นข้าวที่คัดพันธุ์ มีคุณภาพสูงและดูแลอย่างดีก็จะทำให้มีมูลค่า แต่ทั้งหมดต้องอาศัยความเข้มแข็งของพี่น้องเกษตรกร ของเครือข่าย เพื่อที่จะรวมตัวกันร่วมกันแปรรูป ซึ่งหลักการทำโครงการ 1 ไร่ 1 ล้าน คือต้องทำตามกำลังความสามารถ ไม่โลภมาก ถ้าลงทุนสูงก็จะเกิดความท้อเกิดการขาดทุน แต่ทำไปเพื่อให้เกิดความสมดุลของธรรมชาติเมื่อธรรมชาติ เมื่อมีความสมดุลในระยะ 4-5 ปีทุกๆอย่างก็จะกลับมา ทั้งน้ำ ดิน สิ่งแวดล้อม ที่สำคัญต้องพูดคุยในเครือข่ายบ่อยๆเพื่อให้มีองค์ความรู้ที่จะมาพัฒนา สร้างความเข้มแข็ง คาดว่าส่วนราชการต่างๆ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาครัฐที่เกี่ยวข้องจะเข้ามาเติมเต็ม ทั้งเรื่อง พืช สัตว์ น้ำ สัตว์น้ำ การตลาด คงไม่ทอดทิ้งเกษตรกร ให้มีความมั่นคงทางด้านการเกษตร ทำการเกษตรอย่างมีศักดิ์ศรี เข้าไปอยู่ในระบบสากลได้โดยใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศต่างๆที่ทันสมัยเพื่อให้ลูกหลานได้กลับมาช่วยครอบครัว ช่วยงานอาชีพเกษตรให้กับพี่น้องคนไทยอย่างมีศักดิ์ศรีมีอนาคตมากกว่าที่ผ่านมา ซึ่งเราอยู่ในระบบหนี้สินเพราะฉะนั้นถือว่าเป็นนิมิตรหมายที่ดีของพี่น้องเกษตรกรไทย
              สำหรับกิจกรรมภายในแปลง ประกอบด้วย บ่อเลี้ยงปลา3 บ่อ 3 ขนาด แปลงนา 2 แปลง ปลูกข้าวพันธุ์ กข 43 ระบบน้ำโดยใช้ระบบโซล่าเซลล์ ปลูกพืชเศรษฐกิจอีก 30 ต้น ประกอบด้วย พยุง พะยอม ยางนา มะค่า ประดู่ อย่างละ 6 ต้นรวม 5 ชนิดคือ 30 ต้น ปลูกตามแนวพระราชดำริของในหลวง คือ พื้นที่ 1 ไร่เป็นป่า 30% ทำนา 30 % น้ำ 30 % และ10% คือที่พักอาศัย นอกจากนั้น มีโรงเลี้ยงหมู โรงเห็ด การทำปุ๋ยมูลไส้เดือนให้เกษตรกรได้ใช้ในพื้นที่การเกษตรของตนเองและขายให้กับกองทุน เป็นต้น

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!