ภาคีเครือข่ายอนุรักษ์ปลาดุกลำพัน เดินหน้าปล่อยลงป่าพรุควนเคร็ง ปีหน้าเล็งปลูกพืชอาหาร 20,000 ต้น
ภาพ-ข่าว:นายหัวไทร
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 21 ธันวาคม 2566 บริเวณศูนย์อนุรักษ์ปลาดุกลำพัน เนินธำมัง ต.แม่เจ้าอยู่หัว อ.เชียรใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช มีการจัดกิจกรรมปล่อยปลาดุกลำพัน ตามโครงการลำพันคืนถิ่น ป่าพรุควนเคร็ง ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ตัดต่อเนื่องกันมาหลายปี ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 7 แล้ว และเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นโดยภาคเอกชนเป็นต้นคิด วันเป็นการร่วมมือของภาคีเครือข่ายทั้งภาคเอกชน และหน่วยงานภาครัฐ นำโดยประจวบ เจี้ยงยี่ ประมงจังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นคนถิ่นเดิม อ.เชียรใหญ่ เฉลียว คงตุก สื่อมวลชนอาวุโส ผู้ริเริ่มโครงการนี้มาตั้งแต่ต้นเมื่อหลายปีก่อน พร้อมด้วยหน่วยงานราชการในพื้นที่ เช่น ประมงจังหวัด ป่าไม้ ชลประทาน และผู้นำท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ ประชาชนในพื้นที่ โดยมีการปล่อยปลาดุกลำพัน 250 กิโลกรัม เป็นปลาดุกลำพันพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ และยังไดรับการสนับสนุนพันธุ์ปลาสายพันธุ์อื่นจากกรมประมงอีก 400,000 ตัว
นายประจวบ กล่าวว่า เมื่อก่อนในถิ่นย่านนี้มีปลาดุกลำพันเยอะมาก แต่จากสถานการณ์ไฟไหม้ป่าพรุ และสภาพความแห้งแล้งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จึงทำให้ชาวบ้านไม่ค่อยได้พบเจอปลาดุกลำพันอีก ก็เข้าใจว่า ได้สูญพันธุ์ไปจากป่าพรุควนเคร็ง และพื้นที่ข้างเคียงแล้ว “กิจกรรมลำพันคืนถิ่นจึงเกิดขึ้น โดยคณะผู้จัดได้ไปซื้อพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ของปลาดุกลำพันมาจากป่าพรุโต๊ะแดง จาก.นราธิวาส ที่ยังพอหาได้ ก็หวังว่า ความอุดมสมบูรณ์ของปลาดุกลำพันจะกลับคืนมาเป็นอาหารให้กับคนนครศรีฯอีกครั้ง”
ด้านนายเฉลียว กล่าวว่า ในช่วงปีสองปีที่ผ่านมา ชาวบ้านที่ทำประมง ดักปลา เริ่มจับปลาดุกลำพันได้บ้างแล้ว อันแสดงให้เห็นว่า ปลาดุกลำพันที่พวกเราปล่อยคืนธรรมชาติ เขามีชีวิตรอดอยู่ได้ “เราขอร้องชาวบ้านว่า ถ้าจับปลาดุกลำพันได้ในช่วงนี้อย่าเพิ่งเอามากิน ให้ปล่อยเขากลับคืนธรรมชาติ เพื่อให้เขาได้ขยายพันธุ์ไปสักระยะหนึ่ง ซึ่งเชื่อว่าอีกไม่นานถิ่น 4 อำเภอโซนลุ่มน้ำปากพนัง จะมีปลาดุกลำพันจำนวนมากแน่นอน”
นายเฉลียว กล่าวอีกว่า เรื่องสำคัญอีกอย่างคืออาหารของปลาดุกลำพัน ซึ่งจากการศึกษาพบว่า ปลาดุกลำพันเป็นสัตว์กินพืช และเขาจะกินลูกของต้นเตียว และลูกเสม็ดชุน เป็นหลัก แต่ทั้งสภาพความแห้งแล้ง และไฟไหม้ป่าพรุควนเคร็ง ทำให้พืชทั้งสองชนิดอันเป็นอาหารของปลาดุกลำพันลดลงไปด้วย “ปีหน้านอกจากการปล่อยลำพันคืนถิ่นแล้ว เราจะปลูกต้นเตียว และต้นเสม็ดชุนด้วย เพื่อให้เป็นอาหารของปลาดุกลำพัน เราจะปลูกไม่น้อยกว่า 20,000 ต้นแน่นอน”
นายเฉลียว กล่าวอีกว่า มีคนสอบถามมามากว่า ถ้าจะเลี้ยงปลาดุกลำพัน จะทำอย่างไร อยากจะเรียนว่า ธรรมชาติของ #ปลาดุกลำพัน จะอาศัยอยู่ในป่าพรุ น้ำกร่อย สามารถตีโพลงเป็นที่อยู่อาศัยได้ พื้นที่บ่อทั่วไปยังยากที่จะอยู่รอด
“ใครคิดจะเลี้ยงปลาดุกลำพัน อยากให้ศึกษาชีวิตเขาให้ดีก่อน และถ้าเป็นไปได้อยากให้ไปดูการทดลองเลี้ยงในบ่อขุด ที่ศูนย์นวัตกรรมเกษตรใหม่ที่ยั่งยืนของอาญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ อดีต สส.นครศรีฯ ต.สามตำบล อยาก.จุฬาภรณ์ ที่ทดลองเลี้ยงปลาดุกลำพันในบ่อขุดมาปีกว่า และมีชีวิตรอดมาได้”