พรหมวิหาร 4 ธรรมนี้ควรมีในผู้นำ-ธรรมมะดีๆจาก”หลวงพี่น้ำฝน”
เรื่องโดย:พระครูปลัดสิทธิวัฒน์(หลวงพี่น้ำฝน)
เจริญพรญาติโยมผู้อ่านทุกท่าน อาตมาเชื่อว่าทุกคนน่าจะรู้จักพระพรหม หรือองค์มหาเทพผู้มีสี่หน้า พระพรหมนี้ อินเดียโบราณถือว่าเป็นตัวแทนแห่งปรมาตมัน หรือต้นธาตุต้นธรรมของสรรพสิ่งทั้งปวง และยังมีอีกนามหนึ่งคือ พระปชาบดี คือผู้เป็นใหญ่ของเหล่าประชา เป็นตัวแทนแห่งความบริสุทธิ์ผุดผ่องทั้งปวง
พรหม จึงเป็นบุคคลอันสำคัญยิ่ง และเหตุนี้เอง พระพุทธเจ้าจึงทรงมีพระธรรมเทศนาเรื่องพรหม ว่าแท้จริงแล้วพรหมคืออะไร ครั้งหนึ่ง มีพราหมณ์ผู้หนึ่งชื่อว่า โทณะ เขาได้มาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า แล้วทูลเล่าตามความที่เคยได้ยินได้ฟังมาว่า พระพุทธเจ้านั้น ไม่อภิวาท ไม่ลุกรับ หรือไม่เชื้อเชิญ ด้วยอาสนะ ซึ่งพราหมณ์ผู้แก่เฒ่าเป็นผู้ใหญ่ล่วงกาลผ่านวัยแล้ว ซึ่งก็คงเป็นเรื่องแปลกสำหรับพราหมณ์ เพราะในสังคมอินเดียเขายกย่องพราหมณ์ว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ มีชาติกำเนิดดี เรียนครบจบไตรเพทแล้ว เหตุใดพระพุทธเจ้าซึ่งอยู่ในภาวะนักบวชเที่ยวภิกขาจารครองผ้ากาสาวะเก่า ๆ จึงไม่เคารพนบไหว้เหมือนชาวบ้านชาวเมืองเขา
พระพุทธเจ้าทรงมีปุจฉากับโทณะครู่หนึ่งถึงเรื่องคุณสมบัติของพราหมณ์จำพวกต่าง ๆ ทั้งดีและชั่ว อย่างดีที่สุดคือเสมอด้วยพรหม และอย่างชั่วที่สุดคือพราหมณ์จัณฑาล แล้วทรงอธิบายโดยพิสดารว่า พราหมณ์ที่เสมอด้วยพรหม ที่เสมอด้วยก็เพราะความประพฤติ มีใจประกอบด้วยความเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขาเป็นที่ตั้ง แผ่ไปในทุกทิศ แก่สรรพสัตว์สรรพชีวิตทั้งปวง เหล่านี้เรียกว่าได้เจริญพรหมวิหาร คือที่ตั้งแห่งความเป็นพรหม ถือว่าได้เข้าถึงความเป็นใหญ่อันหาประมาณไม่ได้
ส่วนพราหมณ์จำพวกอื่น ๆ รองลงไปนั้น ทรงวิสัชนาโดยประการต่าง ๆ แต่มีใจความหลักคือ คนเราเป็นพราหมณ์ก็ด้วยการกระทำ ความประพฤติของเราเอง ไม่ได้ขึ้นกับชาติกำเนิดหรือจะรู้พระเวทรู้ตำรับตำราอะไรมากน้อย ถึงเกิดดี รู้ดี แต่ประพฤติชั่ว ก็เป็นได้แค่พราหมณ์จัณฑาล
ฉะนั้น พราหมณ์เกรดเอ ก็คือพราหมณ์ที่เจริญพรหมวิหาร 4 และตามนัยนี้เอง พรหมวิหาร 4 ก็คือธรรมที่ทำให้คนเป็นพราหมณ์ เสมอด้วยพรหม ได้ครองความเป็นใหญ่อย่างหาประมาณไม่ได้ แม้ตัวไม่ได้เป็นพราหมณ์ด้วยกำเนิด แต่หากปฏิบัติพรหมวิหาร 4 แล้ว ก็ย่อมมีคุณสมบัติเสมอด้วยพราหมณ์อันเสมอด้วยพรหม ในเรื่องภพภูมิ พรหมก็คือภพภูมิหนึ่งซึ่งเป็นสุคติภูมิ เป็นภพภูมิที่สูงยิ่ง พ้นจากกามใด ๆ แล้วบุคคลอันจะเป็นพรหมนี้จึงต้องเป็นผู้ที่พร้อมด้วยกุศลต่าง ๆ อันดียิ่ง หาได้มาจากชาติกำเนิดใด ๆ เป็นเรื่องความประพฤติล้วน ๆ
ดังนั้น พระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธคุณค่าของคนผ่านวรรณะ ในสังคมอินเดียที่มีกฎเรื่องวรรณะเข้มงวด บางคนย่อมถูกตัดสินจากวรรณะ แม้เกิดมาก็ถูกด้อยค่า หรือถึงเกิดมาสูงแต่ทำชั่วปานใดก็มีคนโอบอุ้ม ถ้าไม่ได้เป็นพราหมณ์ก็เข้าไม่ถึงเทพเจ้า ก็ได้แต่วิงวอนบูชาไปตามเรื่อง พระพุทธเจ้าทรงให้ความสำคัญกับคุณค่าของความประพฤติมากกว่า และความประพฤตินี้เองที่จะพาคนคนนั้นไปยังสุคติ ตั้งแต่ภพภูมิที่ดีกว่า ไปจนถึงพระนิพพานอันเป็นปลายทางสูงสุดของทุกคน
ความเป็นพรหม คือ ความเป็นใหญ่แก่ประชา หรือประชาบดี ฉะนั้นเราจึงถือกันว่า หลักธรรมพรหมวิหาร 4 เป็นหลักธรรมสำหรับผู้เป็นใหญ่ หรือผู้นำ ควรที่ผู้นำทั้งหลายควรจะปฏิบัติ มีสี่ประการ ในที่นี้จะยกคำอธิบายตามพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ได้แก่ เมตตา คือ ความรักใคร่ ปรารถนาดีอยากให้เขามีความสุข มีจิตอันแผ่ไมตรีและคิดทำประโยชน์แก่มนุษย์สัตว์ทั่วหน้า
กรุณา คือ ความสงสาร คิดช่วยให้พ้นทุกข์ ใฝ่ใจในอันจะปลดเปลื้องบำบัดความทุกข์ยากเดือดร้อนของปวงสัตว์
มุทิตา คือ ความยินดี ในเมื่อผู้อื่นอยู่ดีมีสุข มีจิตผ่องใสบันเทิง กอปรด้วยอาการแช่มชื่นเบิกบานอยู่เสมอ ต่อสัตว์ทั้งหลายผู้ดำรงในปกติสุข พลอยยินดีด้วยเมื่อเขาได้ดีมีสุข เจริญงอกงามยิ่งขึ้นไป
อุเบกขา คือ ความวางใจเป็นกลาง อันจะให้ดำรงอยู่ในธรรมตามที่พิจารณาเห็นด้วยปัญญา คือมีจิตเรียบตรงเที่ยงธรรมดุจตราชั่ง ไม่เอนเอียงด้วยรักและชัง พิจารณาเห็นกรรมที่สัตว์ทั้งหลายกระทำแล้ว อันควรได้รับผลดีหรือชั่ว สมควรแก่เหตุอันตนประกอบ พร้อมที่จะวินิจฉัยและปฏิบัติไปตามธรรม รวมทั้งรู้จักวางเฉยสงบใจมองดู ในเมื่อไม่มีกิจที่ควรทำ เพราะเขารับผิดชอบตนได้ดีแล้ว เขาสมควรรับผิดชอบตนเอง หรือเขาควรได้รับผลอันสมกับความรับผิดชอบของตน จะเห็นได้ว่า เหล่านี้เป็นธรรมที่ผู้เป็นใหญ่ควรมี ผู้เป็นใหญ่พึงมีความปรารถนาจะสร้างความสุข และปลดเปลื้องความทุกข์แก่ผู้คน ผู้เป็นใหญ่พึงมีความยินดีในความสุขของผู้อื่น และผู้เป็นใหญ่พึงวางใจเป็นกลางอยู่เสมอ เหล่านี้คือคุณสมบัติของพรหม เพราะพรหมคือภาวะธรรมชาติ ภาวะอันเป็นปกติ สงบระงับ การมีสิ่งเหล่านี้ในจิตใจ ก็คือภาวะแห่งความปกติ สงบสุข หรือศานติ
ในช่วงที่ผ่านมานี้ อาตมาได้มีโอกาสร่วมงานกับนายแพทย์สุรชัย โชคครรชิตไชย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครปฐม ในฐานะที่วัดไผ่ล้อมได้เป็นส่วนเสริมการให้บริการของโรงพยาบาลนครปฐม ซึ่งเป็นโรงพยาบาลศูนย์ขนาดใหญ่ มีบุคลากรจำนวนมาก และมีผู้ใช้บริการจำนวนมาก ทั้งคนไข้ และญาติ และวัดไผ่ล้อม โดยมูลนิธิหลวงพ่อพูล ก็ได้ให้การสนับสนุนครุภัณฑ์ทางการแพทย์หลายอย่าง เช่น เตียงผู้ป่วย รถเข็น อาตมาก็พบว่า คุณหมอสุรชัยนี้เป็นผู้มีพรหมวิหาร เพราะคุณหมอสุรชัยเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาล เป็นผู้บริหารดูแลกิจการต่าง ๆ ของโรงพยาบาล ซึ่งก็ดำเนินการไปได้ด้วยดี บนพื้นฐานของความเมตตา กรุณาเป็นที่ตั้ง ซึ่งแค่สองข้อนี้ก็คือหัวใจของความเป็นหมอ คนเป็นหมอนั้นตั้งต้นแค่นี้แหละ เมตตา กรุณา และให้มีมุทิตา คือ ความยินดี ยินดีที่ผู้ป่วยนั้นมีสุข ได้หายจากโรคภัย แล้วก็มีอุเบกขา คือ ความวางใจเป็นกลาง ซึ่งก็เป็นคุณสมบัติของหมอ ด้วยหมอต้องพบสถานการณ์ต่าง ๆ ที่บีบคั้นหัวใจ ยากต่อการตัดสินใจ สุดท้ายแล้วอุเบกขาจะเป็นธรรมที่ประคองใจผู้ปฏิบัติงานไว้ ตามเหตุและผลที่ควรจะต้องเป็น
ในที่สุดของบทความนี้ อาตมาจึงขออนุโมทนาแก่นายแพทย์สุรชัย โชคครรชิตไชย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครปฐมอีกครั้ง ที่ได้เปิดโอกาสให้วัดไผ่ล้อมได้มีโอกาสช่วยเหลือสังคม ได้แบ่งเบาภาระของโรงพยาบาล บำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้แก่ประชาชน อันเป็นเป้าหมายสูงสุดของผู้เป็นใหญ่ทั้งปวง ขอเจริญพร