เชียงใหม่-นายกฯ เศรษฐา เยี่ยมชมการดำเนินงานโครงการพระราชดำริ
ภาพ-ข่าว:ศูนย์ข่าวจังหวัดเชียงใหม่
วันนี้ (20 ม.ค. 67) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ ได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมโครงการศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลบ้านแหวน อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเยี่ยมผมผลการดำเนินงานและพูดคุยประเด็นส่งเสริมการเกษตรสมัยใหม่ และการใช้เทคโนโลยีในการเพาะปลูกกับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ โดยมี นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วย นายชัชวาลย์ ปัญญา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมให้การต้อนรับ
ศูนย์ฯบ้านไร่ฯ ได้ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2523 โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ จำนวน 80,000 บาท ให้ นายพิศิษฐ์ วรอุไร (หัวหน้าโครงการในขณะนั้น) เพื่อนำไปเริ่มงานทดลองขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผล ในหมู่บ้านที่บ้านไร่ หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านแหวน อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ การดำเนินงานประสพผลดี จึงได้พระราชทานพระราชทรัพย์เพิ่มเพื่อจัดตั้งเป็น “กองทุนหมุนเวียน” พร้อมทั้งพระราชทานชื่อโครงการว่า “โครงการศูนย์ขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผล งานสาธิตฝึกอบรมและส่งเสริมอาชีพราษฎรตามพระราชดำริ” โดยทรงเล็งเห็นว่างานนี้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง และให้ทำต่อไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งภายหลังสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้จัดให้โครงการศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นศูนย์สาขาของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
สำหรับศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีพื้นที่ดำเนินการทั้งหมด 2 แห่ง คือ สถานีวิจัยและฝึกอบรมบ้านไร่ อ.หางดง มีพื้นที่ทั้งหมด 33 ไร่ ซึ่งจำนวน 18 ไร่ เป็นพื้นที่ในพระปรมาภิไธย และอีกประมาณ 15 ไร่ เป็นของมูลนิธิชัยพัฒนา ส่วนอีกแห่งอยู่ในพื้นที่หน่วยฝึกอบรมยางคราม อ.ดอยหล่อ จำนวน 90 ไร่ เป็นพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ประโยชน์จาก สปก. จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อดำเนินงานด้านการพัฒนาพันธุ์พืชควบคู่ไปกับงานศึกษาทดลองและวิจัยด้านสรีรวิทยาการผลิต
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะ ได้รับฟังบรรยายสรุปเกี่ยวกับธุรกิจไม้ดอกและความสำคัญของการพัฒนาพันธุ์ไม้ดอก จากนั้น ได้เยี่ยมชมนิทรรศการของศูนย์ฯ บ้านไร่ และหน่วยงานความร่วมมือ จำนวน 6 งาน ได้แก่ 1.งานพัฒนาพันธุ์พืชใหม่ ได้แก่ ลูกผสมปทุมมาและกระเจียว สายพันธุ์ที่ขึ้นทะเบียนรับรองพันธุ์พืช และคุ้มครองพันธุ์พืชที่ได้นำไปส่งเสริมอาชีพให้แก่ราษฎรจากภาคเหนือจรดภาคใต้ ลูกผสมแกลดิโอลัส ลูกผสมดาหลา และบานชื่น 2.การขยายพันธุ์แบบเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชชนิดต่างๆที่นำไปส่งเสริมอาชีพให้แก่ราษฎร และงานวิจัยเทคโนโลยีการผลิตพืชในระบบการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เช่น ปทุมมา กระเจียว แกลดิโอลัส วาซาบิ และ สตรอว์เบอร์รี เป็นต้น 3.ผลิตภัณฑ์สินค้าพืชเมืองหนาว เช่น ไฮเดรนเยีย ลิลลี ลาเวนเดอร์ และ วาซาบิ เป็นต้น 4.การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีพลาสมาเย็น (Cold Plasma technology) เพื่อใช้ประโยชน์ด้านการเกษตร (ความร่วมมือระหว่างศูนย์ฯบ้านไร่ฯกับอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ) 5.งานขยายผลกลุ่มไม้ดอก ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์ฯบ้านไร่ฯ (กลุ่มผู้ผลิตแกลดิโอลัส และ กลุ่มผลิตปทุมมาและกระเจียว) 6.งานขยายผลบนพื้นที่สูง งานแสดงผลิตภัณฑ์ของกลุ่มชนเผ่า อาทิเช่น กาแฟ และการทำเครื่องจักรสาน ฯลฯ
นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ตลาดจริงใจมาร์เก็ต เชียงใหม่ เยี่ยมชมบูธและพบปะผู้ประกอบการ เพื่อพัฒนาระบบการค้า
ต่อมานายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และคณะ ลงพื้นที่โครงการ จริงใจมาร์เก็ต เชียงใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายวีรพงษ์ ฤทธิ์รอด รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยส่วนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมติดตามและให้การต้อนรับ ท่ามกลางบรรยากาศนักท่องเที่ยวที่ได้เดินทางมาเที่ยวยังตลาดจริงใจมาร์เก็ต แห่งนี้อย่างคึกคัก
โดย นายกรัฐมนตรี ได้เยี่ยมชมกิจกรรม Coffee Week พบปะผู้ประกอบการภายในตลาดอินทรีย์ ศึกษาดูงานการคัดแยกขยะแบบครบวงจร รับฟังความคิดเห็นเพื่อการพัฒนาการค้า ในตลาดผลิตภัณฑ์อาหารปลอดภัย งานศิลปะและการออกแบบ และงานฝีมือ และเยี่ยมชมร้าน กู้ดส์กู้ดส์แหล่งรวมงานศิลปะและหัตถกรรมภูมิปัญญาท้องถิ่น และร้าน Tops Green สโตร์สีเขียวแห่งแรกในไทย
ภายใต้แนวคิด “ร้านค้าสีเขียวเพื่อชาวเชียงใหม่ ชีวิต และโลกที่ดีขึ้น” ซึ่งรวมสินค้าออร์แกนิกและสินค้าวีแกนทั้งไทยและต่างประเทศกว่า 6,600 รายการ มีสินค้าท้องถิ่นจาก 13 ชุมชน และ 14 ผู้ผลิตสินค้าออร์แกนิก พร้อมทั้งเปิดพื้นที่ให้เกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อยในจังหวัดเชียงใหม่และพื้นที่ภาคเหนือนำสินค้ามาจำหน่ายทุกวัน