สระแก้ว-ไข้เลือดออกพุ่ง เพียง 6 เดือนครึ่ง พบเกือบ 697 คน

สระแก้ว-ไข้เลือดออกพุ่ง เพียง 6 เดือนครึ่ง พบเกือบ 697 คน

ภาพ/ข่าว:สวาท เกตุงาม
ขอบคุณภาพ : ธีระ แสงสุรเดช

ไข้เลือดออกสระแก้ว พุ่ง เพียง 6 เดือนครึ่ง พบเกือบ 697 คน

         เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2562 นายแพทย์สุภโชค เวชภัณฑ์เภสัช นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว เผยว่า สถานการณ์ของโรคไข้เลือดออกของจังหวัดสระแก้วขณะนี้แนวโน้มสูงขึ้น ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม- 15 กรกฎาคม 2562 พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกจำนวน 697 ราย คิดเป็นอัตราป่วยเท่ากับ 124.68 ต่อแสนประชากร เสียชีวิต 1 ราย ที่อำเภอวังน้ำเย็น โดยในเดือนมิถุนายน มีผู้ป่วยจำนวน 278 ราย พบผู้ป่วยสูงสุด 3 อันดับแรกที่ อำเภอวังน้ำเย็น อัตราป่วย 190.05 ต่อแสนประชากร รองลงมา คือ อำเภอคลองหาด (182.12 ต่อแสนประชากร) และ อำเภอเมืองสระแก้ว (150.26 ต่อแสนประชากร) ตามลำดับ พบผู้ป่วยไข้เลือดออกสูงสุด 3 อันดับแรก ในกลุ่มอายุ 10-14 ปี อัตราป่วย 579.60 รองลงมา คือ 5-9 ปี อัตราป่วย 479.80 และ 15-24 ปี อัตราป่วย 181.55 พบผู้ป่วยเพศหญิง 319 ราย เพศชาย 378 ราย คิดเป็นอัตราส่วนเท่ากับ 1.18 ต่อ 1

          จากการวิเคราะห์สถานการณ์โรคไข้เลือดออกของจังหวัดสระแก้วขณะนี้พบว่าจำนวนผู้ป่วยสูงกว่าค่ามัธยฐาน 5 ปีย้อนหลังถึง 2.7 เท่าและสูงกว่าค่าเป้าหมายปี 2562 ถึง 3.2 เท่า ทำให้ขณะนี้จังหวัดสระแก้วพบผู้ป่วยอยู่ในลำดับที่ 5 ของประเทศ (สัปดาห์ที่แล้วอยู่อันดับ 9) และอันดับ 3 ของเขตสุขภาพที่ 6 (8 จังหวัดภาคตะวันออก) รองจากจังหวัดตราดและจันทบุรี ขอแนะนำประชาชนหากพบเห็นผู้ป่วยมีไข้สูง 2 วัน อาการไม่ดีขึ้น อ่อนเพลีย ซึมลง ปัสสาวะสีเข้ม หรือไข้ลดแล้วแต่อาการแย่ลง ซึมกว่าเดิม เบื่ออาหาร ขอให้สงสัยว่าเป็นไข้เลือดออกและรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้านทันที และห้ามซื้อยารับประทานเอง

           “จังหวัดได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินไข้เลือดออก ทั้งระดับจังหวัดและอำเภอ เพื่อประเมินสถานการณ์ ประสานงาน และสั่งการต่างๆ ล่าสุดได้สั่งการให้โรงพยาบาลและสาธารณสุขอำเภอดำเนินมาตรการรับมืออย่างเข้มข้น โดยให้โรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่งตั้งมุมให้คำปรึกษาไข้เลือดออก (Dengue corner) เพื่อคัดกรอง ติดตาม ดูแลรักษาผู้ป่วยไข้เลือดออก และจัดให้มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษา ดูแลกลุ่มเสี่ยงและผู้ป่วยอาการรุนแรงอย่างใกล้ชิด จัดอบรมแพทย์จบใหม่ในการวินิจฉัย ดูแลรักษาผู้ป่วยไข้เลือดออก รวมถึงขอความร่วมมือ ประชาชนทุกภาคส่วน จิตอาสา ช่วยกันทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายอย่างต่อเนื่อง โดยให้แต่ละบ้านสำรวจจุดเสี่ยงแหล่งเพาะพันธ์ลูกน้ำยุงลายที่พบบ่อย เช่น ภาชนะที่ถูกทิ้ง จานรองกระถางต้นไม้ ยางรถยนต์เก่าไม่ให้มีน้ำขัง โอ่งใส่น้ำที่ไม่มีฝาปิด ส่วนภาชนะรองน้ำทิ้งหลังตู้เย็น ภาชนะรองขาตู้กับข้าว แจกันพลูด่าง แก้วน้ำหิ้งพระให้ทำความสะอาดเปลี่ยนน้ำทุกสัปดาห์ และขอความร่วมมือร้านขายยา คลินิก ไม่ให้จ่ายยาแก้ปวดลดไข้กลุ่มเอ็นเสด เช่น แอสไพริน บรูเเฟน ในผู้ป่วยที่สงสัยโรคไข้เลือดออก เพราะอาจทำให้เกิดอาการเลือดออกมากขึ้น” นายแพทย์ สาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว กล่าวอีก

สามารถติดตามข่าวสารอื่นๆได้ก่อนใครที่ https://www.siameagle.com
หรือ https://www.facebook.com/siameaglenews/

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!