ประจวบคีรีขันธ์-สวธ.เตรียมทุ่มงบ 3 แสนบาท จัดงานสืบสานประเพณีสงกรานต์งัดอัตลักษณ์ดั้งเดิม หลังถูกประกาศเป็นมรดกโลก
ภาพ/ข่าว:เอกภพ วงษ์ประเสริฐ
วันที่ 5 ก.พ.67 ที่โรงแรมประจวบแกรนด์ อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ นางวราพรรณ ชัยชนะศิริ รองอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานการจัดเวทีเสวนาประเพณีสงกรานต์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มี นายองครักษ์ ทองนิรมล รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นางกฤษณา แผ่แสงจันทร์ วัฒนธรรมจังหวัดฯ นายชาญวิทย์ อุณหสุทธิยานนท์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดฯ นางลิษา อึ้งเห่ง ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอหัวหิน นายอาชวันต์ กงกะนันทน์ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานประจวบฯ หัวหน้าส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนองค์กรเครือข่ายวัฒนธรรม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เข้าร่วม เพื่อระดมความคิดเห็นการจัดงานประเพณีสงกรานต์ ประจำปี 2567 ในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สืบสานประเพณีอันดีงามของไทย ส่งเสริมการท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดประจวบฯ
นางวราพรรณ ชัยชนะศิริ รองอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กล่าวว่า หลังจากที่องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO ได้ขึ้นทะเบียนประเพณีสงกรานต์ของไทย เป็นรายการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ กรมส่งเสริมวัฒนธรรมจะมีการจัดกิจกรรมอย่างยิ่งใหญ่เป็นงานมหาสงกรานต์ในเดือนเมษายนนี้ โดยคงเนื้อหาในการเผยแพร่สาระคุณค่า สร้างการรับรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง และให้ตระหนักถึงความสำคัญตามขนบประเพณีของชุมชนท้องถิ่นต่างๆ โดยเตรียมจัดโครงการ “World Songkran Festival : ประเพณีสงกรานต์ไทย หมุดหมายนักท่องเที่ยวทั่วโลก” ดำเนินงานผ่านเครือข่ายวัฒนธรรม 76 จังหวัดทั่วประเทศ และ 50 เขต ในกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 1-21 เม.ย.67 โดยเริ่ม ที่ จ.กำแพงเพชร เป็นจังหวัดแรกในวันที่ 1 เม.ย.นี้ และปิดท้ายที่ จ.สมุทรปราการ 21 เม.ย.นี้
นางวราพรรณ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ได้เสนอขออนุมัติงบประมาณร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท.ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อสนับสนุนการจัดงานประเพณีสงกรานต์ทั่วประเทศ โดยเสนอของบประมาณรวม 36 ล้านบาท ดำเนินการใน 126 พื้นที่ คือ สภาวัฒนธรรมทั้ง 50 เขตของ กทม. เขตละ 2 แสนบาท และสภาวัฒนธรรมจังหวัด 76 จังหวัด จังหวัดละ 3 แสนบาท ส่วนสภาวัฒนธรรมในพื้นที่จังหวัดเป้าหมาย 10 จังหวัด ได้รับจังหวัดละ 5 แสนบาท ประกอบด้วย 5 จังหวัดที่มีการเก็บข้อมูลเสนอต่อ UNESCO ได้แก่ จ.เชียงใหม่ สมุทรปราการ ชลบุรี นครศรีธรรมราช ขอนแก่น และ 5 จังหวัดที่มีพื้นที่ชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ จ.พิษณุโลก บุรีรัมย์ หนองคาย สงขลา เชียงราย ซึ่งงบประมาณส่วนนี้จะเน้นการนำไปใช้ในการทำกิจกรรมเผยแพร่องค์ความรู้สาระสำคัญของประเพณีสงกรานต์ การสาธิตกิจกรรมภูมิปัญญาในท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับประเพณีสงกรานต์ในแต่ละพื้นที่
สำหรับ จ.ประจวบฯ ถือเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยว จึงได้มีการเสนอของบสนับสนุนการจัดงานให้จำนวน 3 แสนบาท แม้จะไม่ได้เป็นจังหวัดหลักในเรื่องของประเพณีสงกรานต์ แต่เป็นพื้นที่ที่มีเอกลักษณ์ ซึ่งในช่วงเดือนเมษายนนี้เป็นช่วงที่มีท้องทะเลสวยงาม คาดว่าจะเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายของการท่องเที่ยว ที่จะสามารถสร้างเม็ดเงินในพื้นที่ ซึ่งจากการมารับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ในวันนี้ ถือว่าเป็นการพูดคุยกันในเบื้องต้น โดยได้มีการนำเสนอพื้นที่จัดงานในภาพรวมของจังหวัดไม่ว่าจะเป็น อ.เมืองประจวบฯ หรือ อ.หัวหิน รวมทั้งการนำเสนอกิจกรรมที่เป็นอัตลักษณ์ในอำเภอต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเพณีสงกรานต์ซึ่งสามารถนำมาเผยแพร่สร้างการรับรู้ได้ โดยหลังจากนี้ทางสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดฯ จะประสานเครือข่ายวัฒนธรรมในพื้นที่เพื่อให้การจัดงานประเพณีสงกรานต์ในเดือนเมษายนนี้ บรรลุตามวัตถุประสงค์ของกรมส่งเสริมวัฒนธรรมต่อไป