ชุมพร-ยื่นหนังสือ สภาเกษตรกรจังหวัดฯให้เร่งแก้ปัญหาเห็ดทำลายต้นปาล์มน้ำมัน
ภาพ-ข่าว:ทีมข่าวจังหวัดชุมพร
สมาชิกสภาเกษตรกร กลุ่มปาล์มน้ำมัน ฝ่ายท้องถิ่น ฝ่ายปกครอง ยื่นหนังสือ สภาเกษตรกรจังหวัดชุมพร ให้เร่งแก้ปัญหาเห็ดทำลายต้นปาล์มน้ำมัน พืชเศรษฐกิจภาคใต้
เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 15 ก.พ.67 นายเจริญ อาจประดิษฐ์ สมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดชุมพร เขต อ.ท่าแซะ เขต 3 นายวิเชียร ไตรเลิศ คณะกรรมการบริหารกลุ่มวิสาหกิจชุมชนปาล์มน้ำมันแปลงใหญ่บ้านพรุตะเคียน น.ส.สายสุดา อินทรมณี รองนายก อบต.สลุย นายเสงี่ยม เย็นสนิท สารวัตรกำนันตำบลสลุย และ นายบุญเลิศ พุ่งไสว ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านปะระ ได้เข้าพบ นางสาวปณิดา โกฏเพชร หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดชุมพร เพื่อยื่นหนังสือร้องเรียนของเกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน ให้สภาเกษตรกรฯประสานกับเกษตรจังหวัดชุมพร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งแก้ไขปัญหาเห็ดชนิดหนึ่งที่มากัดทำลายต้นปาล์มน้ำมันได้รับความเสียหายจำนวนมากในพื้นที่ตำบลสลุย
โดยหนังสือดังกล่าวระบุว่า ได้เกิดเชื้อเห็ด กาโนเดอร์มา (Ganoderma) ที่ต้นปาล์ม เข้าไปทําลายเซลล์ในลําต้นปาล์มน้ำมันเส้นหายตายไปจำนวนมาก ถึงแม้นเกษตรกรจะใช้รถแม็คโคขุดล้อมไว้เพื่อไม่ให้ลามไปต้นอื่นก็ไม่สามารถยับยั้งได้ และเห็ดได้ขยายพื้นที่เกิดความเสียหายเพิ่มเติมออกไปเรื่อยๆ นอกจากในแปลงของผู้ร้องแล้ว ยังมีแปลงของเกษตรกรในพื้นที่ตำบลสลุย อีกหลายแปลงกำลังได้รับความเสียหายเช่นกัน จึงต้องการให้สภาเกษตรกรจังหวัดชุมพร ซึ่งเป็นหน่วยงานตัวแทนของเกษตรกร ประสานกับเกษตรจังหวัดชุมพร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้ามาสำรวจความเสียหาย และหาทางแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกร เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายลุกลามออกไปมากยิ่งขึ้น
หลังจากได้รับหนังสือร้องเรียน นางสาวปณิดา โกฏเพชร หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดชุมพร ได้แจ้งต่อ นายธีระศักดิ์ ยมสวัสดิ์ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดชุมพร ทราบ จากนั้นได้ทำหนังสือถึง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมันสุราษฎร์ธานี กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้ส่งนักวิชาการเข้ามาดูปัญหาที่เกิดขึ้น หาทางในการยับยั้งการแพร่กระจายเชื้อเห็ดและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
นายเจริญ อาจประดิษฐ์ สมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดชุมพร กล่าวว่า จังหวัดชุมพรมีพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน1,020,684 ไร่ มากเป็นอันดับ 2 ของประเทศ เป็นพืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่งของจังหวัดชุมพร มีโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มในจังหวัดจำนวน 35 แห่ง และมีลานเทรับซื้อ ผลผลิตปาล์มน้ำมันในจังหวัด จำนวน 255 แห่ง ดังนั้นต้องเร่งแก้ปัญหาเห็ดทำลายต้นปาล์ม ก่อนที่จะเกิดผลกระทบกับระบบการผลิตปาล์มน้ำมัน โดยในวันที่ 21 ก.พ.นี้ จะนำเข้าสู่วาระการประชุมสภาเกษตรกรจังหวัดชุมพร เพื่อให้สภาฯได้เร่งผลักดันร่วมกันแก้ไขปัญหาให้เกษตรกรต่อไป