อำนาจเจริญ-จัดมหกรรมเมืองสมุนไพร “ฮ่วมกินพาแลง เบิ่งแยงเมืองอำนาจ”
ภาพ-ข่าว:ทิพกร หวานอ่อน
วันนี้ (21 มี.ค. 67) เวลา 17.30 น. ว่าที่พันตรี อดิศักดิ์ น้อยสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ เป็นประธานเปิดมหกรรมเมืองสมุนไพร อำนาจเจริญ “ฮ่วมกินพาแลง เบิ่งแยงเมืองอำนาจ” ณ โรงแรมฝ้ายขิด อ.เมืองอำนาจเจริญ จ.อำนาจเจริญ โดยมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี นำผลงานโครงการวิจัยห่วงโซ่คุณค่าสมุนไพรและอาหารปลอดภัยอำนาจเจริญ ของกลุ่มเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จ ตั้งแต่กระบวนการปลูก แปรรูป จนสามารถจำหน่ายสร้างรายได้มาจัดแสดงและจำหน่าย โดยมีนายประทีป บริบูรณ์รัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ นายเทพรัตน์ ตันตยานนท์ ปลัดจังหวัดอำนาจเจริญ ผศ.ดร.ชุตินันท์ ประสิทธิ์ภูริปรีชา อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี นายแพทย์ปฐมพงศ์ ปรุโปร่ง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอำนาจเจริญ นางสาววันเพ็ญ ตั้งสกุล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอำนาจเจริญ หัวหน้าส่วนราชการ และประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมกิจกรรม เยี่ยมชมและเลือกซื้อสินค้าที่นำมาจัดแสดง
ผศ.ดร.ชุตินันท์ ประสิทธิ์ภูริปรีชา อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวกึงการจัดงานมหกรรมเมืองสมุนไพร อำนาจเจริญ “ฮ่วมกินพาแลง เบิ่งแยงเมืองอำนาจ” ในวันนี้ว่า เป็นกิจกรรมสำคัญของโครงการวิจัยห่วงโซ่คุณค่าสมุนไพรและอาหารปลอดภัยอำนาจเจริญ ซึ่งดำเนินงานภายใต้ชุดโครงการวิจัย เพื่อพัฒนาพื้นที่และแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำจังหวัดอำนาจเจริญ ระยะที่ 4 โดยมหาวิทยาลัยอุบล ราชธานีได้รับการสนับสนุนทุนการวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ หรือ บพท. ซึ่งดำเนินงานอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2563
กิจกรรมนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประชาสัมพันธ์นวัตกรรมการแก้ไขปัญ หาความยากจนในระดับพื้นที่ทั้งนวัตกรรมทางสังคมและนวัตกรรมที่เกิดจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมทั้งบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน อันนำไปสู่เป้าหมายแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2560 – 2564 ที่ประกาศให้ “จังหวัดอำนาจเจริญ” เป็นหนึ่งใน “เมืองสมุนไพร” (Herbal City) และแผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566 -70 สร้างมาตรฐานเพิ่มมูลค่า เชื่อมโยงกับการพัฒนาสมุนไพรตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Supply Chain) ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำของอุตสาหกรรมสมุนไพร การขับเคลื่อนตามแผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรฯ จะต้องอาศัยความร่วมมือของทั้งภาครัฐ เอกชน ชุมชน ภาคประชาสังคม มหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยเครือข่าย
โครงการวิจัยได้ดำเนินงานส่งเสริมการปลูกสมุนไพรภายใต้แนวคิดการจัดการธุรกิจที่เรียกว่า “ห่วงโซ่คุณค่า” ให้ครัวเรือนยากจนเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมดังกล่าว จึงได้ประสานและร่วมมือกับภาคีขบวนองค์กรชุมชน วิสาหกิจชุมชน ผู้นำชุมชน อปท.ในพื้นที่และนักวิจัยพื้นที่อาสาสมัคร ร่วมเป็นผู้นำพาให้กลุ่มเป้าหมายได้เข้าร่วมในการปลูก ตัดแต่ง แปรรูป จนถึงการขาย ซึ่งนักวิจัยของโครงการได้เริ่มนำพากลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ในข้อของโซ่ทุกโซ่ จนได้ผลผลิตเช่น ตะไคร้ ข่า ไข่ไก่ ไก่เนื้อ เครื่องจักสานอย่างง่าย ปุ๋ยหมัก ผักพื้นบ้าน เพื่อจำหน่ายในชุมชนและส่งขายผ่านผู้ประกอบการท้องถิ่นไปยังตลาดกลางค้าส่ง
นอกจากนั้นได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ปลายทางเพื่อให้เกิดยอดขายในวงกว้างอันจะเหนี่ยวนำให้ต้องผลิตวัตถุดิบสมุนไพรในพื้นที่เพื่อแปรรูปได้ กิจกรรมในวันนี้ เป็นการแสดงให้เห็นถึงผลงานการวิจัยที่ได้ส่งเสริมและพัฒนาให้คนจนเป้าหมายได้มีรายได้มากขึ้น มีโอกาสในสังคมหลากหลายมิติมากขึ้น เช่น การมีตัวตน การเข้าร่วมกิจกรรมทั้งที่ก่อให้เกิดรายได้และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้อื่น กิจกรรมนี้จัดขึ้น 1 วัน ประกอบด้วยการแสดงสินค้าและบริการของห่วงโซ่คุณค่าสมุนไพรฯ หน่วยงานภาคเอกชน เช่น ร้านขายยาและผลิตภัณฑ์สมุนไพรห้างสรรพสินค้า Big C และกิจกรรมการพัฒนาเมนูอาหารจากเชฟของผู้ประกอบการร้านอาหารที่มีชื่อเสียงในจังหวัดอำนาจเจริญ โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรม ประกอบด้วย ประชาชน ข้าราชการ ครัวเรือนเป้าหมาย และผู้สนใจในพื้นที่ จำนวนประมาณ 350 คน