ประจวบคีรีขันธ์-ประกอบพิธีสวดพระพุทธมนต์และทำบุญตักบาตรถวายพระราชกุศลเนื่องในวันที่ระลึก สมเด็จพระนั่งเกล้าฯ
ภาพ/ข่าว:เอกภพ วงษ์ประเสริฐ
จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ประกอบพิธีสวดพระพุทธมนต์และพิธีทำบุญตักบาตรถวายพระราชกุศล เนื่องในวันที่ระลึก “พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า” ประจำปี พ.ศ. 2567
วันนี้ (31 มีนาคม 2567) เวลา 7.30 น. ที่บริเวณลานเอนกประสงค์ ศาลากลางจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายสมคิด จันทมฤก ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พร้อมด้วย ผศ.ดร.ศศิธร จันทมฤก ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นประธานในพิธีสวดพระพุทธมนต์และพิธีทำบุญตักบาตรถวายพระราชกุศล เนื่องในวันที่ระลึก “พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า” ประจำปี พ.ศ. 2567 โดยมี นายกิตติพงศ์ สุขภาคกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดฯ นายคมกริช เจริญพัฒนสมบัติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดฯ นายองครักษ์ ทองนิรมล รองผู้ว่าราชการจังหวัดฯ นายสินาทร โอ่เอี่ยม รองผู้ว่าราชการจังหวัดฯ หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ และพุทธศาสนิกชน ประชาชน เข้าร่วมพิธี เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความจงรักภักดีถวายเป็นราชสักการะ และแสดงความกตัญญูกตเวทิตา ร่วมน้อมเกล้าฯ รำลึก สำนึกถึงพระเมตตาคุณ พระเกียรติคุณ และคุณูปการในพระมหากรุณาธิคุณอันเปี่ยมล้นอย่างหาที่สุดมิได้
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 พระมหากษัตริย์ผู้ทรงมีคุณูปการแก่สยามประเทศ เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันจันทร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ.2330 ตรงกับแรม 10 ค่ำ เดือน 4 ปีมะแม เวลา 22.30 น. ณ พระราชวังเดิม กรุงธนบุรีพระองค์เป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ครั้งดำรงพระยศเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร กับเจ้าจอมมารดาเรียม (ธิดาพระยานนทบุรีศรีมหาอุทยาน) เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคต มิได้ตรัสมอบราชสมบัติแก่ผู้ใด ขุนนางและพระราชวงศ์ต่างมีความเห็นว่า กรมหมื่นเจษฏาบดินทร์ขณะนั้นมีพระชนมายุ 37 พรรษา ทรงรอบรู้กิจการบ้านเมืองดี ทรงปราดเปรื่องในทางกฎหมาย การค้า และการปกครอง จึงพร้อมใจกันอัญเชิญขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2394 รวมพระชนมพรรษาได้ 64 พรรษา ดำรงอยู่ในราชสมบัติ 27 ปี
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญาต่างๆ เช่น ในปี พ.ศ. 2541 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรได้ถวายพระราชสมัญญาว่า พระมหาเจษฎาราชเจ้า และได้ใช้เป็นสร้อยพระนามสืบมาจนปัจจุบัน ต่อมา พ.ศ. 2551 คณะรัฐมนตรีมีมติถวายพระราชสมัญญาว่า พระบิดาแห่งการค้าไทย, พระบิดาแห่งการพาณิชย์นาวีไทย และในปี พ.ศ. 2558 ถวายพระราชสมัญญาว่า พระบิดาแห่งการแพทย์แผนไทย
คณะรัฐมนตรีมีมติให้วันที่ 31 มีนาคมของทุกปีเป็น วันที่ระลึกพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า หรือ วันมหาเจษฎาบดินทร์ เป็นวันสำคัญของชาติ แต่ไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ และเห็นชอบให้ให้ถวายพระราชสมัญญาว่า “พระมหาเจษฎาราชเจ้า” แปลว่า “พระเจ้าแผ่นดินผู้เป็นใหญ่”