จันทบุรี-เกษตรและสหกรณ์ ลงศึกษาดูงานการดำเนินการ การบริหารจัดการกลุ่ม ตามนโยบายระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่
ภาพ/ข่าว:ดนุชเดช ทองเปรม
เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 3 เม.ย.67 คณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา นำโดย พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ ประธานคณะกรรมาธิการ นำคณะเดินทางลงพื้นที่ศึกษาดูงานการดำเนินการและการบริหารจัดการกลุ่มตามนโยบายระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ Smart Farmer และ Young Smart Farmer ศึกษาดูงานวิสาหกิจชุมชนมังคุดแปลงใหญ่คิชฌกูฏ ตำบลชากไทย อำเภอเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี โดยมีนายพิพัฒน์ อินทรเจริญ ประธานวิสาหกิจชุมชนมังคุดแปลงใหญ่คิชฌกูฏ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ ซึ่งวิสาหกิจชุมชนมังคุดแปลงใหญ่คิชฌกูฏเกิดจากสถานการณ์ปัญหา ผลผลิตมังคุดราคาตกต่ำ มีต้นทุนการผลิตสูง ผลผลิตไม่ได้คุณภาพตามความต้องการของตลาด ไม่มีการรวมกลุ่ม ต่างคนต่างขายผลผลิต ทำให้ถูกกดราคาจากผู้รับซื้อ เกษตรกรผู้ปลูกมังคุดจึงรวมตัวกันจัดตั้งเป็นแปลงใหญ่มังคุดเขาคิชฌกูฏ ในปี 2559 จากสมาชิกเริ่มต้นจำนวน 32 ราย ปัจจุบันมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 63 ราย และจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนมังคุดแปลงใหญ่คิชฌกูฏ เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2559 และในปี 2560 จัดตั้งตลาดประมูลมังคุดโดยใช้สถานที่อาคารร้านค้าชุมชน หมู่ที่ 4 ตำบลชากไทย พร้อมกับสร้างแบรนด์ “KrathingMangosteen group@ Khaokhitchakut Chanthaburi” หรือ “KMK” ให้เป็นที่รู้จัก จนกระทั่งปี 2561 ได้รับรางวัลชมเชยแปลงใหญ่ดีเด่นระดับประเทศ และได้รับยกย่องเป็นต้นแบบการประมูลมังคุดของภาคตะวันออก ปี 2562 มีการก่อสร้างขยายอาคารประมูล และสร้างเครือข่ายประมูลมังคุดไปยังอำเภอข้างเคียง ปี 2563 ได้รับรางวัลชมเชยวิสาหกิจชุมชนดีเด่นระดับประเทศ มีการพัฒนาระบบประมูลผลผลิต ปี 2564 ได้ยกระดับจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลในชื่อ บริษัทวิสาหกิจชุมชนมังคุดแปลงใหญ่คิชฌกูฏ และปี 2565 ได้รับรางวัลเลิศรัฐ สาขาการบริหารภาครัฐแบบมีส่วนร่วม ประเภทร่วมใจแก้จน ระดับดีเด่น ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานที่โดดเด่น คือ การทำตลาดประมูลมังคุดซึ่งได้รับการตอบรับจากสมาชิกวิสาหกิจชุมชน และคู่ค้าที่ได้ร่วมกันซื้อขายมังคุดคุณภาพ ทำให้สามารถจำหน่ายผลผลิตมังคุดได้ในราคาที่สูงขึ้นจากท้องตลาดทั่วไปและสามารถขยายผลช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ข้างเคียง ในรูปแบบครือข่ายแปลงใหญ่มังคุดทั้งในอำเภอข้างเคียงและจังหวัดตราดร่วมกันดำเนินงาน ตลาดประมูลมังคุด สมาชิกมีความพึงพอใจในการจำหน่ายที่ตลาดประมูลซึ่งมีราคาสูงกว่าตลาดภายนอก ช่วยลดภาระการขนส่งออกนอกพื้นที่และการกดราคาจากพ่อค้าคนกลางและช่วยให้คนในชุมชนมีรายได้สูงขึ้น มีอาชีพ มีงานทำ เกิดประโยชน์ต่อชุมชนอย่างแท้จริง
ในการนี้ คณะกรรมาธิการได้กล่าวว่า วิสาหกิจชุมชนมังคุดแปลงใหญ่เขาคิชฌกูฐเป็นแปลงใหญ่ที่ควรนำไปเป็นตัวอย่าง เนื่องจากมีการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของแปลงใหญ่ที่ไม่ใช่แค่การรวมการผลิต แต่ยังรวมไปถึงด้านการตลาดที่ได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจำหน่ายจากการเทกอง มาเป็นการประมูล ซึ่งทำให้สมาชิกของกลุ่มมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 30 และยังมีความเข้มแข็งที่สามารถทำ MOU ในการส่งออกมังคุดไปยังประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย ทำให้ลูกหลานมีความภาคภูมิใจในการเป็นเกษตรกร สร้างรายได้อย่างยั่งยืน อาชีพที่มั่นคง และสร้างความอบอุ่นในครอบครัว ทั้งนี้ ยังมีข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะดังนี้ 1. เนื่องจากมังคุดมีแนวโน้มผลผลิตเพิ่มมากยิ่งขึ้นจึงควรส่งเสริมให้มีการแปรรูปมังคุดให้เป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่า และป้องกันภาวะมังคุดล้นตลาด , 2. ส่วนราชการในพื้นที่และนักวิชาการที่เกี่ยวข้องควรมีการส่งเสริมและพัฒนาวิจัยแนวทางการแก้ไขปัญหาการติดดอกของมังคุดให้มีความสม่ำเสมอ , 3. ควรมีการปรึกษาหารือกับผู้ชำนาญการของกลุ่มและสมาชิกในการแก้ไขปัญหาอาการเนื้อแก้วและยางไหลภายในผลมังคุด , 4. ควรพัฒนาต่อยอดแปลงใหญ่ให้เติบโตยิ่งขึ้น และสามารถเป็นต้นแบบให้แก่บุคคลอื่น ๆ ได้
เวลา 15.30 น. ศึกษาดูงานการพัฒนาและส่งเสริมเกษตรสร้างมูลค่าตามยุทธศาสตร์ชาติด้านการผลิตทุเรียนหมอนทองคุณภาพและทุเรียนนอกฤดูกาล ณ สวนอุดมทรัพย์ ตำบลทุ่งเบญจา อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี โดยนายอุดม วรัญญูรัฐ กรรมาธิการ และเป็นเกษตรกรเจ้าของสวนที่มีความชำนาญด้านการผลิตทุเรียนหมอนทองคุณภาพ และมีเทคนิคการผลิตทุเรียนนอกฤดู ซึ่งต้องอาศัยปัจจัยหลายประการ ตั้งแต่หาต้นทุเรียน บำรุงต้น ให้ปุ๋ย และน้ำ เพื่อให้ต้นทุเรียนสมบูรณ์เร็วขึ้นพร้อมที่จะออกดอก ส่วนด้านการจัดการโรคและแมลงศัตรูทุเรียนนั้น ใช้วิธีการจัดการแบบผสมผสาน เน้นการติดตามสถานการณ์ของโรคและแมลงอย่างสม่ำเสมอเป็นการป้องกันโรคเพื่อให้ต้นทุเรียนมีความสมบูรณ์ แต่อย่างไรก็ตาม มีความเป็นห่วงเรื่องปัญหาทุเรียนอ่อน เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีเครื่องมือหรือนวัตกรรมใดในการตรวจจับทุเรียนอ่อนที่มีความเสถียรเพียงพอในการตรวจวัด ทั้งนี้ ได้พาเยี่ยมชมสวนทุเรียน จำนวน 2 แปลง ที่มีการบริหารจัดการที่แตกต่างกัน