สมุทรปราการ-ผู้บริหารบ่อขยะแพรกษาใหม่ชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องที่ สส อภิปรายในสภา เรื่องการจัดการขยะ

สมุทรปราการ-ผู้บริหารบ่อขยะแพรกษาใหม่ชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องที่ สส อภิปรายในสภา เรื่องการจัดการขยะ

ภาพ-ข่าว:สุรศักดิ์ / อัญมณี คงสินธ์

              จากกรณีที่ นางสาวนิตยา มีศรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล จังหวัดสมุทรปราการ เขต 5 ที่ อภิปรายในสภามีเนื้อหาพาดพิงถึง บ่อขยะเเพรกษาใหม่ ซึ่งบริหารจัดการโดย บริษัท อีสเทิร์น เอเนอร์จี้ พลัส จำกัด ไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีชั้นรองปูพื้นก้นหลุม ผ้าใบปิดคลุมท่อรวบรวมก๊าซ อยู่ติดกับเเหล่งชุมชน ศูนย์ราชการ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เเละ เเหล่งน้ำสาธารณะคลองทับนาง เเละ ตรวจตัวอย่างน้ำในคลองทับนาง พบเเบคทีเรียกินเนื้อคน ส่งผลกระทบสิ่งเเวดล้อม คน หมู่บ้านจัดสรรได้รับความเดือดร้อน เเละ มีความชันบ่อขยะเกินกว่าค่ามาตรฐาน
              เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 5 เมษายน 2567 ที่ โรงแรม Mason Place ตำบลแพรกษา อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ นายอบีนาช มาจี้ ประเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท อีสเทิร์น เอเนอร์จี้ พลัส จำกัด ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการบริหารจัดการของศูนย์บริหารจัดการขยะมูลฝอย ชุมชนตำบลแพรกษาใหม่ ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลแพรกษาใหม่ อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ สืบเนื่องจากการอภิปรายด้วยความห่วงใยในสภาพปัญหาของบ่อขยะทั้งประเทศในรัฐสภา เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2567 และ ได้มีการยกตัวอย่างการบริหารจัดการขยะมูลฝอยชุมชนในจังหวัดสมุทรปราการ โดยกลุ่มบริษัท อีสเทิร์น เอเนอร์จี้ พลัส จำกัด ขึ้นเป็นกรณีตัวอย่าง แบ่งเป็น 5 ประเด็น คือ 1.การดำเนินการบ่อขยะที่ไม่ถูกสุขาภิบาล / 2.มาตรการป้องกันเพลิงไหม้ในบ่อขยะ / 3.ก๊าซมีเทนจากการประกอบกิจการ / 4.การเคลื่อนตัวของดินไปยังคลองทับนาง / และ 5.ประเด็นเรื่องน้ำเสียจากกิจการนั้น นายอบีนาช มาจี้ กล่าวว่า กลุ่มบริษัทอีอีพีตระหนักดีถึงสภาพปัญหาดังกล่าวและได้บริหารจัดการด้วยความใส่ใจ จึงขอเรียนชี้แจงการบริหารจัดการขยะชุมชนของบริษัท ฯ ดังต่อไปนี้
1.บ่อขยะสมุทรปราการที่ไม่ถูกสุขาภิบาล บริษัท อีสเทิร์น เอเนอร์จี้ พลัส จำกัด (อีอีพี) มีการดำเนินการจัดการขยะ โดยมีการปิดคลุมบ่อขยะด้วยวัสดุเสมือนดิน (soil-like material) สำหรับพื้นที่ที่ยากต่อการเข้าถึงเพื่อดำเนินการปิดทับขยะด้วย MOL บริษัทฯ จะใช้ผ้าใบ HDPE ในการปิดคลุมแทน และ บริษัทฯ ใช้รูปแบบการฝังกลบบ่อขยะที่ช่วยลดอัตราการเกิดกลิ่นและก๊าซ เรียกว่าวิธีการดำเนินการบ่อขยะกึ่งใช้อากาศ (semi-aerobic landfill)

               2.มาตรการป้องกันเพลิงไหม้ในบ่อขยะ เหตุเพลิงไหม้ที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2565 ไม่ได้เกิดขึ้นบนบริเวณบ่อขยะ หรือ สถานที่ทิ้งขยะ แต่เป็นบริเวณกองเก่าซึ่งไม่มีการใช้งาน หรือ กองดินที่ปิดคลุมด้วยหญ้าแห้ง ไม่ได้ไหม้ที่บ่อขยะ ดังนั้น จึงไม่ได้เกี่ยวข้องกับก๊าซมีเทนที่เกิดขึ้น โดยไฟไหม้ที่เกิดขึ้นทั้งหมดสามารถควบคุมและจัดการได้ภายใน 1 ชั่วโมง มีการตรวจสอบพื้นที่ชุมชนโดยรอบ และไม่พบว่ามีค่ามลพิษเกินค่ามาตรฐาน โดยบริษัทมีมาตรการการป้องกันเพลิงไหม้ ด้วยการใช้โดรนชนิดพิเศษที่มีความสามารถในการตรวจจับความร้อน เป็นประจำทุกวัน หลังเกิดเหตุ บริษัทฯ จะดำเนินการติดตามผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม โดยมีการลงพื้นที่เพื่อสอบถามชุมชน ตรวจสอบคุณภาพน้ำ และตรวจสอบคุณภาพอากาศโดยรอบโดยทันที และจากการตรวจสอบคุณภาพอากาศ พบว่าค่าฝุ่น PM2.5 ในวันที่เกิดเหตุไม่มีค่าสูงกว่าค่าปกติ และไม่เกิน 32 ไมครอนต่อลูกบาศก์เมตร

               3.ก๊าซมีเทนจากการประกอบกิจการ บริษัทมีการตรวจสอบก๊าซมีเทนเป็นประจำ และไม่ตรวจพบการควบแน่นของก๊าซมีเทนภายในพื้นที่ทำงาน ทั้งนี้ เนื่องจากมีการใช้รูปแบบการทำงานแบบกึ่งใช้อากาศซึ่งลดอัตราการเกิดก๊าซมีเทน พร้อมปิดคลุมด้วยดินและพลาสติกมาโดยตลอด

               4.การเคลื่อนตัวของดินไปยังคลองทับนาง ทีมบริหารใหม่เข้ามาบริหารในเดือนตุลาคม 2562 และพบว่ามีปัญหาการเคลื่อนตัวของดินเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2557 จึงได้ทำการว่าจ้างที่ปรึกษาทั้งจากในประเทศ และต่างประเทศ มาเพื่อทำการศึกษาถึงแนวทางการแก้ไขปัญหา และดำเนินการปรับปรุงแก้ไขปัญหามาโดยตลอด ในปี 2563 บริษัท ว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญซึ่งเป็นบุคคลากรของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เข้ามาศึกษาพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาการเคลื่อนตัวของดิน ซึ่งจากผลการศึกษาขั้นต้น พบว่าปัญหาเกิดจากน้ำหนักของกองขยะซึ่งมีน้ำสะสมภายในเป็นจำนวนมาก ดังนั้น บริษัทจึงทำการลดความสูงของบ่อขยะที่ประมาณ 47 ถึง 50 เมตร ลงมาเหลือประมาณ 35 เมตร สำหรับคลองเทียม 6 นิ้ว ที่กล่าวถึงในการอภิปรายคือการทำให้เกิดการไหลเวียนของน้ำในคลองเพื่อบรรเทาโอกาสการเกิดน้ำท่วมเท่านั้น

              5.ประเด็นเรื่องน้ำเสียจากกิจการ บริษัทมีการตรวจคุณภาพน้ำในคลอง น้ำใต้ดิน น้ำในดิน และคุณภาพดิน ไม่มีค่าไหนที่เกินกว่าค่ามาตรฐาน หรือค่าปรกติของจังหวัดสมุทรปราการบริษัทฯ มีการตรวจสอบคุณภาพน้ำใต้ดินเป็นประจำทุกปี ปีละ 3 ครั้ง เพื่อติดตามคุณภาพน้ำ ทั้งนี้ ตามภาพที่ได้มีการนำเสนอในการอภิปราย มิใช่น้ำที่ปล่อยออกจากบ่อขยะ และพิกัดอยู่ห่างจากบ่อขยะประมาณ 500 เมตร สำหรับแบคทีเรีย แอโรโมแนส ไฮโดรฟิลา ที่ได้กล่าวถึง พบว่าเป็นแบคทีเรียที่พบได้ปรกติตามแหล่งน้ำตามธรรมชาติ และมีโอกาสก่อโรคในคนได้น้อยมาก ซึ่งกระบวนการเพาะเชื้อแบคทีเรียนี้มีโอกาสเจอได้เป็นปรกติในแหล่งน้ำทั่วไป ทั้งนี้ จากข้อมูลของสาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ ไม่พบว่ามีประวัติของผู้ป่วยที่ประสบปัญหาจากเชื่อแบคทีเรียดังกล่าว พร้อมกันนี้ บริษัทได้ทำการตรวจสอบคุณภาพดินรอบพื้นที่ของบริษัท ไม่ตรวจพบการปนเปื้อนของสารอันตราย
             นายอบีนาช มาจี้ กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทได้ตระหนักและใส่ใจถึงคุณภาพชีวิตของชุมชน เพื่อเป็นการติดตามคุณภาพชีวิต และสุขภาพของประชาชนในชุมชน บริษัทได้เข้าทำการตรวจสุขภาพของประชาชนในชุมชนทุกปี โดยผลการตรวจไม่พบผลกระทบทางด้านทางเดินหายใจที่ผิดปกติ ในส่วนของพนักงานพบว่าพนักงานของบริษัท ไม่มีผู้ที่ได้รับผลกระทบด้านทางเดินหายใจที่เกิดจากการทำงาน กลุ่มบริษัทอีอีพีดำเนินกิจการตามวิสัยทัศน์ ในการบริหารองค์กรที่จะต้องยึดมั่นในจริยธรรมของการดำเนินธุรกิจเป็นกรอบ องค์กรและธุรกิจต้องเจริญเติบโต และสำคัญที่สุดคือต้องอยู่ร่วมกับชาวสมุทรปราการที่อาศัยอยู่ในชุมชนโดยรอบได้อย่างเป็นมิตร

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!